ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่มีอยู่ในพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงชี้ให้ชาวเราทั้งหลายได้รู้จักที่ตั้งแห่งจิต เป็นที่ตั้งอาศัยเพื่อให้จิตนี้อยู่รอดปลอดภัยจากแรงลม พายุร้าย น้ำท่วม ไฟไหม้ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ฝนตก ฝุ่นละออง ผงธุลี ที่จักมีมารอบด้าน คอยครอบงำอำพรางจิตนี้ เพทภัยเหล่านี้เป็นขบวนการของวัฏฏะ ที่จับจ้องจองจำจิตของสรรพสัตว์ ให้ต้องหมุนวนระคนทุกข์ รุมเร้าคละเคล้า จนเราคิดว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จิต และกายนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงชี้ให้เราเห็นถึงพิษภัยของการไม่แยกแยะแขกแปลกหน้า ที่เพียรพยายามจักทำตัวสนิทสนมกลมเกลียวกับชีวิต จิต และกายนี้ จนเราคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรา แล้วก็เฝ้าเลี้ยงดูทะนุถนอมแขกแปลกหน้านั้น แถมยังปล่อยให้มันมีอำนาจต่อรอง ข่มขู่ บังคับ หลอกล่อ เยินยอ ยั่วยวน ชอบให้เราต้องทำตามมันบงการโดยมิรู้ตัว แม้แต่ผลแห่งการกระทำนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ร้อนแรง ทุกข์ระทม ขมขื่น ซึ่งอาจจะสอดแซมมาด้วยกลิ่นอายของความหอมหวานบ้างเล็กน้อย มีผลตอบรับที่ดีนิดหน่อย เราทั้งหลายก็พากันชื่นชมยินดี คิดว่านี่คือไมตรีที่แขกแปลกหน้านั้นหยิบยื่นให้
ขอให้รู้ว่า ความรัก ความชั่ว ยอมรับ ปฏิเสธ โลภ โกรธ หลง สุข ทุกข์ เป็นแต่เพียงแขกแปลกหน้าที่เราหลงไปคบหาพกพาติดตัวตลอดมา ก็ยังถือว่ามีโอกาสที่จักขับไล่ สลัดหลุด ไม่ปล่อยให้แขกนั้นๆมาฉุดเราอยู่
แต่ ที่แย่และเลวร้ายก็คือว่า เราท่านทั้งหลายไม่ค่อยได้คิดว่าความรัก ความชั่ว ยอมรับ ปฏิเสธ โลภ โกรธ หลง สุข ทุกข์ มันไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม มิใช่แขกแปลกหน้า เราท่านทั้งหลายกลับไปคิดว่า มันเป็นหน้าตาตัวตน องค์ประกอบของชีวิตเรา ซึ่งเราท่านจักขาดจากมันเสียมิได้ แล้วก็พากันหลงใหลได้ปลื้ม เฝ้าระวังรักษา ผูกยึด หน่วงเหนี่ยว หวงแหน จนบ่อยครั้งถึงกับยอมตาย สละทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต เพื่อรักษามัน หรือทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มันมา โดยมิคำนึงว่าวิธีและการกระทำนั้นๆ จักกระทบกระทั่งใคร ล่วงเกินก้าวก่ายผู้ใดให้เสียหายเดือดร้อน หรือแม้ตนจักเสียหายเดือดร้อนบ้างก็คิดว่าไม่กระไร เพราะเข้าใจว่าได้มาคุ้ม เหมือนกับบุคคลอยู่อาศัยในที่มุงที่บังอันไม่มิดชิด โดยคิดว่าชอบสายลมแสงแดด ความเย็นจากละอองฝน เมื่อได้กระทบกับสิ่งเหล่านี้แล้วก็มีความสุข ความพึงพอใจ แต่หารู้ไม่ว่าสายลม แสงแดด ละอองฝน เมื่อกระทบตนมากๆ ก็เกิดโทษได้เหมือนกัน นอกจากจะเกิดโทษจากสายลม แสงแดด ละอองฝน ยังจักมีฝุ่นละออง ผงธุลี พร้อมทั้งเชื้อโรคทั้งหลาย ลอยมากระทบทำให้เกิดโรคร้ายได้อีก รวมความแล้ว ชีวิต จิต กายนี้ ต้องการการบริหาร การดูแล จัดการ ระวัง รักษา ให้พ้นจากมลภาวะทั้งปวง แล้วก็แสวงหาสภาวะธรรมที่มั่นคง เป็นปราการป้องกันภัยพิบัติ พร้อมทั้งเป็นอาวุธขจัดภัยนานาได้ด้วย ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะใช้สภาวะ สร้างสภาวะ รักษาสภาวะ เพื่อชีวิตอื่น จิตอื่น กายอื่น ให้ได้ใช้ต่อๆไป โดยไม่ยึดติดต่ออะไรๆในสภาวะนั้นๆ และกระบวนการการจัดการต่อชีวิต จิต กายนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณาและพระคุณอันประเสริฐ ท่านได้ทรงชี้วิถีให้ชีวิต จิต กายนี้ให้ได้อยู่อาศัย ไว้มากมายถึง ๘๔,๐๐๐ วิถี ในที่นี้จักยกตัวอย่างให้ดูสักหลายข้อ เริ่มต้นด้วย
การละชั่ว (อันเป็นส่วนของศีล) ได้แก่ ละทุจริต ๓ อย่าง คือ
ละกายทุจริต คือ ละการประพฤติชั่วทางกาย มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
ละวจีทุจริต คือ ละการพูดเท็จ ละการพูดส่อเสียด ละการพูดคำหยาบ ละการพูดเพ้อเจ้อ
ละมโนทุจริต ได้แก่ ละความโลภ ละความพยาบาทปองร้าย ละความเห็นที่ผิดจากธรรมชาติแห่งความเป็นจริง
ทำดี (เป็นส่วนของสมาธิ) ได้แก่ ประพฤติสุจริต ๓ อย่าง คือ
ทำ ดีทางกาย เรียกว่า กายสุจริต ได้แก่ ความประพฤติซื่อตรงต่อตนและคนอื่น ความช่วยเหลือสละแบ่งปันสิ่งของ และแบ่งปันกำลังใจ กำลังกายที่พอจะให้ได้
ทำ ดีทางวาจา เรียกว่า วาจาสุจริต ได้แก่ การพูดด้วยถ้อยคำที่ยังให้เกิดสาระประโยชน์แก่ผู้พูดและผู้ฟัง ทั้งผู้ฟังและผู้พูดบังเกิดความฉลาด สว่าง สะอาด สงบ ทำดีทางใจ เรียกว่า มโนสุจริต ได้แก่ ความเมตตา อาทร เสียสละ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้อภัย และมีความเห็นที่ถูกตรงต่อสภาพความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งปวง
ทำ ใจให้ผ่องใส (เป็นส่วนของปัญญา) ใจนี้จักผ่องใสได้ด้วยการใช้ปัญญา พิจารณาเห็นหลักแห่งความเป็นจริงของธรรมชาติ นั่นก็คือ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เพราะอิงอาศัยเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยดับ สิ่งนั้นทั้งปวงก็พลอยดับไปด้วย เมื่อใจนี้ประกอบไปด้วยปัญญา รู้จักพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงดังกล่าวมาแล้ว สลดสังเวช ไม่หลงมัวเมาในโลกธรรม ไม่ตกเป็นทาส ของกามคุณทั้ง ๕ มี รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ใจนี้ก็จะละเสียได้ซึ่ง รัก โลภ โกรธ หลง และอวิชชา เหตุแห่งความไม่รู้ทั้งปวง และมลทินแห่งใจนี้ก็จักมิมีปรากฏ เหตุแห่งมลทินของใจที่จักมีมาแต่อดีตและกำลังจักปรากฏในปัจจุบัน จักมีต่อไปในอนาคต เราก็จักตัดเหตุนั้นๆได้ด้วยปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง ความผ่องแผ้วแห่งจิตทุกดวงที่เกิดดับก็จักบังเกิดขึ้น
นอกจากจะ ปฏิบัติตนให้คอยชำระ และตั้งอยู่ในหลักของหัวใจสำคัญของพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงตรัสสอนให้เห็นถึงที่มั่นแห่งจิตนี้ ซึ่งเป็นที่มั่นที่จักช่วยประคับประคองป้องกัน มิให้จิตนี้ตกไปสู่ที่ชั่ว และที่มั่นที่จิตนี้ควรอยู่อาศัย พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันมีดังต่อไปนี้
สติปัฏฐาน ๔
ความมีสติ กำหนดพิจารณาธรรมชาติแห่งความเป็นจริง และตั้งมั่นอยู่ในชีวิต กาย จิต อารมณ์ของตนอย่างจดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ จนกลายเป็นความสงบสงัด ปราศจากกิเลส พ้นวิเศษจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เช่นนี้จึงได้ชื่อว่า สติปัฏฐาน
และด้วยเหตุที่ให้พิจารณาธรรมชาติความเป็นจริงของกาย เวทนา จิต และวิจารณ์สภาวะธรรมในส่วนที่เป็นกุศล อกุศล ทั้งที่เกิดแก่ตน ทั้งที่เกิดกับคนอื่น ทั้ง ๔ อย่างนี้จึงชื่อว่า มีสติพิจารณาตั้งอยู่ในฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม
ให้ พิจารณาว่ากายนี้ประกอบไปด้วยลมหายใจ โดยอาการเกิดขึ้น โดยสัมผัส โดยกิจ และโดยการดับไปแห่งลมหายใจ อิริยาบถใหญ่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถย่อยได้แก่ หันซ้าย หันขวา เหยียดแขน คู้แขน เดินหน้า ถอยหลัง กิน ถ่าย เป็นต้น นอกนี้แล้ว กายนี้ยังประกอบไปด้วย สิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจ ซึ่งมีอยู่ทั้งภายในและภายนอกกาย แม้ในสิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจเหล่านั้น ก็เป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันมีอยู่ทั่วไปในกาย และนอกกาย กายนี้เป็นของไม่งามด้วยลักษณะต่างๆ
เหล่านี้คือ เครื่องมือหรือสื่อให้เราพิจารณา ศึกษา ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงของสภาพร่างกายนี้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งต่างๆประกอบกันขึ้น ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ทุกสิ่งภายในกายนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ให้พิจารณาว่า เวทนา คือ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ สุขเจือกามคุณ สุขไม่เจือกาม-คุณ ทุกข์ไม่เจือกามคุณ เป็นอุเบกขา คือ ไม่สุขไม่ทุกข์ ทั้งหลายทั้งปวงนี้เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ขาดเหตุปัจจัยปรุงแต่งก็ขาดเวทนา เวทนาไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีสภาพที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนกับกาย
ให้พิจารณารู้ว่า จิตนี้มีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตนี้มีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตนี้มีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตนี้หดหู่ จิตฟุ้งซ่าน จิตนี้มีนิวรณ์อื่นยิ่ง จิตมีสมาธิ พิจารณาให้รู้ว่าจิตนี้จะเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วก็ด้วยเหตุปัจจัย กุศล อกุศล วิชา อวิชชา แล้วเหตุปัจจัยเหล่านี้ก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา แม้จิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกุศล อกุศล วิชา อวิชชา ก็เกิด-ดับขึ้นด้วยตัวมันเอง จิตนี้จึงไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ต้องอิงอาศัยเหตุปัจจัยเป็นอยู่
ให้พิจารณาว่า สภาวะธรรมใดที่เป็นนิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิต พิจารณาให้เห็น อุปาทานความยึดถือในขันธ์ทั้ง ๕ พิจารณาให้เห็นสภาวะธรรมที่บังเกิดขึ้น มีอาการอย่างไร มีอารมณ์เช่นไร มีกิจหรือหน้าที่อย่างไร ได้รับผลเช่นไร ดับลงไปด้วยอาการอย่างไร พิจารณาให้เห็นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดี หรือฝ่ายชั่ว ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ เมื่อขาดเหตุปัจจัย สภาวะธรรมนั้นๆก็ดับไป เหมือนดั่งไฟจะลุกได้ก็ต้องมีเชื้อ ขาดเชื้อเสียแล้ว ไฟนั้นก็มิอาจลุกได้ ฉันใดก็ฉันนั้น สภาวะธรรมใดๆเมื่อจะเกิด ก็ต้องอิงอาศัย กุศล อกุศล วิชา อวิชชา เมื่อขาดสิ่งเหล่านี้ สภาวะธรรมนั้นๆก็มิอาจปรากฏ แม้ว่าโดยรูปร่างของสภาวะธรรมนั้นๆก็มิได้มีตัวตนที่แท้จริง เป็นแต่เพียงสภาวะของการปรุงแต่งและยึดถือ จึงทำให้มันปรากฏขึ้น ซึ่งมีสภาพเหมือนดังบุคคลกระโดดจับหมอกควันในอากาศฉะนั้น
พิจารณา ธรรมชาติแห่งความเป็นจริงที่ปรากฏในกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งที่เป็นส่วนอดีต ปัจจุบัน และทั้งที่จะปรากฏในอนาคต พิจารณาโดยความหยาบ ปานกลาง และละเอียด ก็จะปลดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ความเมาในภพ เมาในชาติ เมาในวัย เมาในอายุขัย เมาในอำนาจวาสนา ก็จะบรรเทาเบาบางห่างหายไปจากชีวิต จิต กาย นี้ไปทันที
สัมมัปปธาน ๔
ธรรมเครื่องอาศัยรักษาจิตข้อต่อมา คือ สัมมัปปธาน ๔ ได้แก่
- มีความรัก ในความเพียรพยายาม ป้องกันบาป อกุศล มิให้เกิดแก่จิต
- มีความรัก ที่จะเพียรพยายาม ละบาปอกุศลกรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว
- มีความรัก ความเพียรพยายาม มุ่งมั่นประกอบกุศลกรรม ให้เจริญขึ้น
- มีความรัก ที่จักเพียรพยายาม รักษากุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญเต็มบริบูรณ์มากขึ้น มิให้เลือนหาย
อิทธิบาท ๔
คุณเครื่องอยู่อาศัยของจิต ข้อต่อมาคือ อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ธรรม เครื่องยังให้สำเร็จตามความประสงค์ ๔ อย่าง คือ
๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งที่ตนทำ
๒. วิริยะ ความขยัน หมั่นเพียร ในสิ่งที่ตนกำลังกระทำ
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ จดจ่อในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่นั้นๆอย่างไม่คลาดเคลื่อน
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผล ในสิ่งที่ตนกำลังกระทำผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่ในคุณเครื่องยังให้สำเร็จ ๔ อย่าง ที่ชื่อว่า อิทธิบาท ๔ นี้ ย่อมยังให้สำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ
อินทรีย์ ๕
อินทรีย์ ๕ อย่าง อินทรีย์ตัวนี้ แปลว่า ความเป็นใหญ่ เช่น ตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในการฟังเสียง จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการรับรส กายเป็นใหญ่ในการสัมผัส แต่อินทรีย์ ๕ ในที่นี้หมายถึง
๑. ศรัทธา ความเชื่อ ทำกิจทุกอย่าง กรรมทุกชนิดต้องมีศรัทธาเป็นอันดับแรก
๒. วิริยะ ความเพียร เมื่อศรัทธาต่อกิจที่ทำ ต้องทำด้วยความขยันหมั่นเพียร
๓. สติ ความรู้เนื้อรู้ตัว พร้อมกับต้องมีสติความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะที่ทำ โดยไม่เผลอไผล
๔. สมาธิ ความตั้งมั่นแห่งใจ เป็นพลังคอยสนับสนุนส่งเสริม ให้ผู้กระทำมีความมั่นคง ไม่ลื่นไหลไปตามกระบวนการฉุดกระชาก ลากถู
๕. ปัญญา ความใคร่ครวญ พิจารณาหาเหตุผล จนรู้แจ้ง เห็นชัดในกิจที่ทำ กรรมที่มี
พละ ๕
ธรรม ที่เป็นกำลังเรียกว่า พละ พละ หมายถึง พลังหรือกำลัง มี ๒ อย่าง ได้แก่ กำลังกาย กำลังใจ กำลังกายเกิดขึ้นได้เพราะ การมีชีวิตอินทรีย์ เพราะอากาศ น้ำ อาหาร และการพักผ่อน เมื่อร่างกายได้รับสิ่งเหล่านี้เข้าไป ก็จักปรุงเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย กำลังใจเกิดขึ้นได้เพราะ ธรรม ๕ อย่าง คือ
๑. ศรัทธา ความเชื่อ
๒. วิริยะ ความเพียร
๓. สติ ความระลึกได้
๔. สมาธิ ความตั้งมั่น
๕. ปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขาร
ศรัทธา ความเชื่อ อันได้แก่ความเชื่อที่ต้องประกอบไปด้วยปัญญา พิจารณาหาผล มิใช่เชื่ออย่างงมงายไร้เหตุผล และไม่พิจารณา
วิริยะ เมื่อมีความรัก ความศรัทธา อันประกอบไปด้วยปัญญา แล้วขยันหมั่นเพียรที่จักประกอบกิจกรรม ในเรื่องที่ตนรักศรัทธานั้น อย่างไม่ท้อแท้ท้อถอย
สติ เมื่อรักศรัทธาแล้ว ทำด้วยความเพียรพยายาม พร้อมกับใช้สติ คือความระลึกรู้ ระลึกได้ เข้าควบคุมกิจที่ทำ คำที่พูด สูตรที่คิด ไม่บกพร่องผิดพลาด
สมาธิ ครั้นสติเข้ามามีบทบาท ในการที่ทำ พูด คิดแล้ว ความนึกคิดและจิตนี้ ก็จักตั้งมั่น ไม่สับสน ซึ่งเรียกอาการเช่นนี้ว่า สมาธิ
ปัญญา เมื่อสติเจริญ สมาธิปรากฏ ปัญญาก็จักบังเกิดขึ้นมาช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้กาย จิต ชีวิตนี้ อยู่ดีมีคุณภาพ รอบรู้ฉลาดต่อการจัดการปัญหาและภาระธุระในการดำรงชีวิต กรรมทุกชนิดก็จักมีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากกำลัง ๕ อย่างนี้จักช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้ชีวิตจิตวิญญาณและกายนี้เป็นอยู่อย่างดี มีสาระ ประโยชน์สูง ประหยัดสุดแล้ว กำลัง ๕ อย่างนี้ยังเป็นเครื่องช่วยให้จิตนี้เข้มแข็ง แกร่ง ทนทาน ไม่ตกเป็นทาสของเครื่องผูกและเครื่องร้อยรัดทั้งปวง แถมยังช่วยทำให้อุปกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลาย ที่หมักดองในกมลสันดาน หลุดออกจากจิตวิญญาณของตนอีกด้วย
ปาริสุทธิศีล ๔
ปาริสุทธิศีล ๔ ข้อปฏิบัติที่ทำให้ศีลบริสุทธิ์ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ มี ๔ อย่าง คือ
๑. ปาติโมกขสังวร สำรวมระวังในปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต
๒. อินทรียสังวร สำรวมระวังอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ยินดี ยินร้ายในเวลา ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส ใจกระทบธรรมารมณ์
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต
๔. ปัจจัยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ ซึ่งมีจีวร อาหาร บิณฑบาต เสนาสนะ คือที่อยู่อาศัย คิลานเภสัช คือยารักษาโรค ไม่บริโภคของเหล่านี้ด้วยความเมามัน ด้วยความบำรุงบำเรอ ด้วยความอยาก หรือด้วยความตะกละ พระศาสดาทรงประทานพระปาติโมกข์ ระเบียบวินัย ศีล เอาไว้กำกับ กาย วาจา แก่ภิกษุบริษัททั้ง ๔ ผู้มาจากต่างชาติ ต่างตระกูล ต่างชั้น ต่างวรรณะ ต่างจารีตประเพณี เพื่อประคับประคองให้พฤติกรรมของผู้ที่มาจากต่างที่ต่างถิ่นเหล่านั้นมีการ ปฏิบัติที่เสมอเหมือนกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพียบพร้อมไปด้วยความงดงาม อาจหาญ รื่นเริง
พระปาติโมกข์ เป็นเครื่องปรับเปลี่ยนนิสัย
แก้ไข พฤติกรรมให้แก่ผู้คนชนทั้งหลายผู้เข้ามาอยู่อาศัยในพระธรรมวินัยให้มีความ สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ และทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่น ทั้งยังปฏิบัติตนให้เรียบร้อยเป็นระเบียบ เหมือนดั่งดอกไม้นานาพันธุ์ ที่ถูกจัดสรรอย่างสวยงามอยู่ในแจกันฉะนั้น
อินทรียสังวร คำว่า อินทรีย์ตัวนี้แปลว่าความเป็นใหญ่ เช่น ตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในการฟังเสียง จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการรับรส กายเป็นใหญ่ในการสัมผัส ใจเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์ จักเอาตามาดมกลิ่น หูมาดูรูป ลิ้น มารู้อารมณ์ กายมาฟังเสียง ใจมารับสัมผัสนี้ไม่ได้ การสำรวมระวังอินทรีย์ก็คือ การสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นได้ ฟังเสียงได้ ดมกลิ่นได้ รับรสได้ สัมผัสได้ รู้อารมณ์ได้ แต่ให้มีสติพิจารณาจนรู้เห็นตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ จะได้ไม่ปรุงแต่งจนกลายเป็นเวทนา คือ ชอบใจ ไม่ชอบใจ พอใจ ไม่พอใจ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์
เหมือนดั่งพระพุทธพจน์ที่ว่า มารย่อมรังควานผู้ที่เห็นว่า อารมณ์เป็นของเที่ยงและสวยงาม ความไม่สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ เป็นเหตุให้ต้องเป็นทาสของอารมณ์ เหมือนดั่งพายุที่พัดต้นไม้อันไม่มีรากยึด ไม่มีแรง ต้องโอนเอนและโค่นลงในที่สุด ผู้ไม่สำรวมระวัง ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้อารมณ์ ย่อมเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ในศาสนานี้ เป็นหนทางแห่งอบายและทุคติ
อาชีว ปาริสุทธิศีล ได้แก่ การเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ไม่หลอกลวงผู้อื่นในการเลี้ยงชีวิต ไม่เป็นอยู่ด้วยการประกอบอาชีพอย่างผู้ครองเรือน ไม่ประจบคฤหัสถ์เพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ยอมตัวให้เขาใช้สอยเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ทำเหตุปัจจัยให้เขางมงายเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ทำลายตระกูลสมณะเพื่อเลี้ยงชีวิต
ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีชีวิตอยู่ ด้วยก้อนข้าวหยดน้ำของคฤหัสถ์ ต้องประพฤติตนให้ดำรงรักษาพรหมจรรย์ซื่อสัตย์ต่อพระธรรมวินัย มีชีวิตเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ประหยัดยินดี ในสิ่งที่พึงมีพึงได้ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ทำตนให้ระคนไปกับกามคุณทั้ง ๕ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ของพระศาสดาและศรัทธาอันบริสุทธิ์แก่ชาวบ้าน ภิกษุเมื่อปฏิบัติตนดังนี้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ
ปัจจัย ปัจจเวกขณะ ก่อนจะบริโภคปัจจัย ๔ ต้องพิจารณาเสียก่อน คือ พิจารณาว่า เราบริโภคข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เพื่อยังอัตภาพให้ดำรงอยู่ได้ ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย ไม่บริโภคด้วยความเพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่บริโภคด้วยความทะยานอยาก ไม่บริโภคด้วยความมักมากและอยากจะสะสม
และที่ให้ระลึกอยู่เสมอในขณะ ที่บริโภคว่า เราบริโภคปัจจัย ๔ เพื่อลดความหิวกระหาย หนาว ร้อน และป้องกันอันตรายจากธรรมชาติและสัตว์น้อยใหญ่ เราบริโภคเพื่อบรรเทาจากโรคทั้งหลาย สิ่งของบริโภคเช่นนี้ ใช่ว่าจะมีมาแต่เก่าก่อน เราต้องมาขวนขวายจัดหามาด้วยกำลังกายของตนและคนอื่นทั้งนั้น และก็แสวงหามาบริโภคโดยไม่รู้จักจบสิ้น จัดว่าเป็นภาระอย่างยิ่ง ภาระเช่นนี้หาได้มีเพียงแต่วันนี้หรือพรุ่งนี้ไม่ แต่จะมีอยู่ตลอดชีวิต
เรา ท่านทั้งหลายแทนที่จะหาวิธีบรรเทาภาระให้เบาบาง กลับพากันเพิ่มภาระด้วยความคิดผิด เข้าใจผิดว่า เราต้องออกไปแสวงหาปัจจัย ๔ ทุกวัน ทำให้เป็นภาระเหน็ดเหนื่อย ดิ้นรน ขวนขวาย แสวงหาเอามาสะสมไว้มากๆ จะได้ไม่ต้องออกไปแสวงหามาใหม่อีก ทุกคนคิดดังนี้ ด้วยเข้าใจว่าจะเป็นการลดภาระ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ กลับกลายเป็นการสร้างภาระที่จะต้องประคับประคองดูแลรักษา เป็นภาระที่เกิดขึ้นมีขึ้นอยู่ตลอดเวลา แถมของที่หามาสะสมไว้ต้องสูญหายทำลายเสียไปโดยมิทันใช้หรือใช้ไม่ทัน แทนที่ถ้าเราปล่อยให้มันอยู่กับที่เดิมของมัน หรืออยู่กับธรรมชาติสถานที่เกิด มันอาจจะอยู่ได้นาน แต่เรากลับไปนำมันมาเก็บสะสมเอาไว้เสียเอง แล้วก็ใช้มิทัน อายุขัยของมันก็สิ้นลง สิ่งของมันก็หมดไปจากที่เกิด แล้วทีนี้อะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นแก่เราก็คือ เราต้องเสียเวลาไปกับการนำเอาของเหล่านั้นมาสะสม สะสมแล้วสูญหายใช้ไม่ทัน เราก็ต้องเสียใจ ดีไม่ดียังต้องเสียสุขภาพ เสียกำลังทรัพย์เพิ่มขึ้น บางครั้งขนาดเสียชีวิตเอาด้วยซ้ำ เมื่อความสูญเสียบังเกิดขึ้นแก่เราแล้ว แทนที่จะวิเคราะห์หาเหตุ เราท่านทั้งหลายกลับไม่ทำการวิเคราะห์ แต่ดันไปแสวงหาสิ่งของเหล่านั้นมาสะสมใหม่อีก ทำอยู่เช่นนี้ซ้ำๆซากๆ ไม่รู้จักจบสิ้นจนวันตาย
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ไม่ได้พิจารณาในหลักของปัจจัยปัจจเวกขณะ ปัจจัยบางอย่าง ของบางชนิด เก็บเอาไว้ได้ชั่วครั้งชั่วครู่ก็อย่าเก็บเอาไว้มาก เพราะถ้าเหลือแล้วจะเสียหาย บางชนิดเก็บรักษาเอาไว้ได้นาน ก็เก็บรักษาไว้แต่พอประมาณ ต้องรู้จักคิดเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นเขาบ้าง ทรัพยากรที่มีอยู่จักได้ไม่สูญหายหมดไปโดยเร็ว ปัจจัยลาภบางชนิดไม่สมควรเก็บสะสมเอาไว้เลย เพราะมีอายุชั่วแค่ขณะเวลาหนึ่งๆเท่านั้น สิ่งของบางอย่างถ้าทุกท่านรู้จักที่จักทะนุถนอม ปล่อยให้มันอยู่ในที่ของมัน โดยมิต้องไปแตะต้องมัน มันอาจจะมีอายุยืนยาวให้เราได้ใช้สอยมันได้นานแสนนานก็ได้ ถ้าเราใช้มันไม่ทัน ก็ปล่อยไว้ตรงนั้น ผู้อื่นเขาผ่านมาเห็นเข้า จักได้เก็บเอาไปใช้ หรือเก็บเอาไปแจกจ่ายแก่คนอื่นบ้าง เช่นนี้จึงจักถือว่าเป็นผู้มีปัจจัยปัจจเวกขณะ
โพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ คือ ธรรมเป็นเครื่องยังให้ตรัสรู้ หรือธรรมแห่งการหลุดพ้น มีอยู่ ๗ อย่างคือ
๑. สติ ความระลึกได้
๒. ธัมมวิจยะ ความสอดส่องในธรรม หรือความค้นหาในธรรมที่เหมาะสมแก่ตน
๓. วิริยะ ความเพียร
๔. ปีติ ความอิ่มใจ
๕. ปัสสัทธิ ความสงบระงับแห่งอารมณ์
๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๗. อุเบกขา ความวางเฉย
มี สติ กำหนดพิจารณาเรื่องที่เราทำ คำที่เราพูด สูตรที่เราคิด ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เรื่องทั้งหมดที่ผ่านมา เราสามารถควบคุมมันได้ เป็นนายมันถูก แล้วค้นหาธัมมวิจยะ หัวข้อธรรม ด้วยการเลือกเฟ้นธรรมนั้นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่จริต และความต้องการของตน แล้วลงมือประพฤติปฏิบัติด้วยความวิริยะ ความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเล่าเรียน ท่องบ่น ทรงจำ แล้วทำให้ได้ จนบังเกิดปีติ ความพอใจ ดีใจ อิ่มใจ ภูมิใจ ต่อหลักธรรมที่เรากำลังปฏิบัติ จนเป็นผล คือสมาธิ ความตั้งมั่น ไม่สั่นคลอน ไม่โยกโคน ไม่เสื่อมคลาย มีจิตตั้งมั่นในหลักธรรมนั้นๆ ด้วยเห็นผลจริงตามข้อธรรมนั้น มีจิตปลดว่างจากอาสวกิเลส พ้นวิเศษจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง จัดเป็นอุเบกขา ความวางเฉย เฉยต่อโลภ โกรธ หลง เฉยต่อเครื่องผูกเครื่องพันธนาการ และเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เฉยต่ออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ชอบและชังทั้งปวง
เมื่อจิต ของผู้ใดวางเฉยเสียได้ ต่อสภาวะธรรมทั้งปวง ถือได้ว่าเป็นจิตที่ไม่ติดในบ่วงแห่งมาร เป็นจิตที่ปราศจากเวรภัย เป็นจิตที่อิสระเป็นไท โพชฌงค์ ๗ ประการ จึงเป็นธรรมเครื่องยังให้ตรัสรู้ได้ดังกล่าวมาแล้ว
และที่ว่า พระศาสดา พระมหากัสสปะ พระมหาโมคคัลลานะ ทรงประชวรเป็นไข้ ได้รับความทุกขเวทนา ครั้นเมื่อได้ฟังโพชฌงค์ ๗ แล้วพิจารณาตาม ทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้นั้น คงเป็นเพราะท่านทีสติพิจารณาหายา หาอาหาร หาน้ำ หาอากาศ หาที่อยู่ หาเครื่องใช้ หาวิธีรักษา หาธรรมที่เหมาะต่อตน สามารถแก้โรคภัยได้ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ท่านหามาได้ด้วยความเพียรพยายามอย่างยิ่ง แล้วมีความพอใจ ดีใจ อิ่มใจ สบายใจ จนเป็นเหตุให้มีกาย การกระทำ พูด คิด จิตสงบระงับจากเหตุแห่งโรค และอาการของโรค แล้วมีความตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยตนเอง ตั้งมั่นอยู่ในกระบวนการบำบัดรักษานั้น มีใจอันตั้งมั่น ด้วยการพิจารณาว่า เวทนานี้ไม่มีตัวตน ไม่คงที่ แปรปรวนได้ตลอดเวลา จิตก็จักวางเฉยต่อเวทนาและอารมณ์ทั้งปวง โรคนั้นก็หายโดยฉับพลัน
มรรค ๘ ประการ
มรรค แปลว่า ทาง ในที่นี้หมายถึง วิถีทางอันประเสริฐ ที่จักยังบุคคลผู้ดำเนินไปสู่ที่สุดแห่งความดับทุกข์ มี ๘ ทาง คือ
๑. สัมมาทิฎฐิ วิถีของผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง อันได้แก่ เห็นอริยสัจ ๔ เป็นต้น
๒. สัมมาสังกัปปะ มีความดำริที่ถูกตรงต่อสาระประโยชน์สูงสุดของชีวิตนี้ นั่นคือการดำริที่จะออกจากความเป็นทาส ของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ชอบ ชังต่างๆ ในขณะที่กำลังจักดำริที่จักปลดปล่อยตนเองอยู่นั้น ก็จำเป็นต้องดำริที่จักมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยการพึ่งตนเองได้ พร้อมกับทำตัวให้เป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้
๓. สัมมาวาจา วิถีในการเจรจาพูดคุย ต้องเป็นการเจรจาพูดคุยด้วยความซื่อตรง ถูกต้อง จริงใจ และเอื้ออาทร ผู้พูดก็รักษาประโยชน์ ผู้ฟังก็ได้ประโยชน์ พูดแล้วทำให้ทั้งผู้พูด ผู้ฟัง มีแต่ความฉลาด สะอาด สงบ
๔. สัมมากัมมันตะ หนทางแห่งชีวิตและการงานเพื่อความเบิกบาน และชื่นชอบ เป็นชีวิตและการงานที่อยู่ในขบวนการรักษาสิทธิ์ตน ไม่ทำร้ายสิทธิ์คนอื่น และต้องเป็นชีวิตการงานเพื่อความผ่อนคลาย
๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตในทางที่ซื่อตรง สุจริต ไม่ผิดจากทำนองคลองธรรม ดูว่าจักเป็นความจำเป็น และสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตแห่งความปล่อยวาง เบาสบาย
๖. สัมมาวายามะ วิชาที่ต้องเรียน กิจที่ต้องทำ สูตรที่ต้องคิด ถูกผิดที่ต้องรู้ ครูที่ต้องแสวงหา เรื่องเหล่านี้จำต้องมีความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุนจึงจะสำเร็จสมประสงค์ นอกจากจะเพียรที่จะประกอบการต่างๆแล้ว ยังต้องเพียรพยายามละชั่ว เพียรทำดี เพียรทำจิตของตนให้ผ่องใส และเพียรระวังรักษาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชีวิตและการงาน
๗. สัมมาสติ เป็นวิถีแห่งการอุปถัมภ์ ประคับประคองให้ชีวิต จิต กายนี้ ปรองดองกัน ไม่ก้าวก่ายล่วงเกินในกิจของกันและกัน ตัวอย่างแห่งการก้าวก่ายล่วงเกินในกันและกัน ของชีวิต จิต และกายนี้ที่ขาดสติ คือ ฟันกำลังทำหน้าที่เคี้ยวอาหาร แต่ลิ้นหรือริมฝีปากดันเข้ามาก้าวก่ายสอดแทรกเสียระหว่างกลาง ฟันก็เลยกัดลิ้นหรือริมฝีปากเข้าให้ ลิ้นกับริมฝีปากเลยต้องเจ็บและเป็นแผลไปตามระเบียบ ทั้งนี้เพราะชีวิต จิต กายนี้ขาดสติ จึง ทำงานไม่ผสมผสานกลมกลืนกัน สติความระลึกได้ก่อนทำ พูด คิด นอกจากจะเป็นตัวผสมผสานให้ชีวิต จิต กาย ทำ พูด คิด สอดคล้องกันแล้ว ยังจักช่วยให้เรื่องที่เราทำ คำที่เราพูด สูตรที่เราคิด ไม่ผิดพลาดด้วย ในวิถีแห่งสัมมาสติ นอกจากจะมีอุปการะแก่ชีวิต จิต และกายนี้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยให้เราระลึกรู้ถึงความเป็นจริงของชีวิต จิต กาย และอารมณ์อย่างซื่อตรง สุจริต ถูกต้องตามเหตุตามปัจจัย อย่างไม่คลาดเคลื่อนจาก ความเป็นจริงนั้นๆด้วย
๘. สัมมาสมาธิ ได้แก่วิถีแห่งจิตนี้ ที่ต้องการที่อยู่ ที่ตั้ง ที่อิงอาศัย เพื่อศึกษาเหตุปัจจัยของการเกิดดับของสรรพสิ่ง สรรพชีวิต แล้วก็ปลดปล่อยจิตนี้ออกจากสรรพสิ่ง ปลดปล่อยสรรพสิ่งออกจากจิต จนในที่สุดก็ไม่ปรากฏแม้แต่หนึ่งสิ่ง
สรุป ที่ตั้งอยู่แห่งจิตดังกล่าวมานี้ เป็นที่อยู่ ที่ตั้ง อันมั่นคง ตรงทาง ถูกธรรม ไม่รุกล้ำกล้ำเกิน ก้าวก่ายใคร ผู้ใด ให้ต้องเศร้าโศกเสียหาย แม้ในตนและคนอื่น ทั้งยังช่วยรักษาสาระประโยชน์อันประเสริฐ เจริญ ทั้งในตนและคนอื่นได้อีกด้วย
ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายโปรดได้ช่วยพิจารณา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น