วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

วิถีแห่งพุทธะ มหาสติปัฏฐาน ๔

วิถีแห่งพุทธะ มหาสติปัฏฐาน ๔ (ภาค ๑ เรื่องของกาย)
ตอนที่ 1 สิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนการปฏิบัติกัมมัฏฐาน

มี คำกล่าวโบราณ ของท่านอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้ให้ไว้เป็นหลักในการทำกัมมัฏฐาน ทั่วไปเพื่อเอาไว้พิจารณาแก่นักปฏิบัติว่า คนมีปัญญา ยืนหยัดมั่นคงอยู่บนแผ่น-ดิน ฉวยจับอาวุธที่คมด้วยมือ ลับที่หินแล้วมีความเพียรถางป่าที่รกให้เตียนไปได้ ถ้อยคำโบราณดังกล่าวนี้ ถ้าพิจารณาให้ดี ดูจะเป็นหัวใจสำคัญของผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานทั้งหลาย เราลองมาพิจารณาค้นหาถ้อยคำ ความหมาย ที่ซ่อนเร้นอยู่ในกลบทเหล่านี้ดูกัน ว่าจะมีความสำคัญประการใด

ท่านได้ให้คำอธิบาย คนมีปัญญา ไว้ว่า ปัญญาในที่นี้หมายถึง ปัญญาดั้งเดิมที่ติดตัวตนเองมาแต่อดีตชาติ ที่เรียกว่า สหชาติปัญญา แต่ยังเป็นปัญญาเดิม ที่ยังมิได้รับการพัฒนา ขัดเกลาสร้างเสริมให้งอกงามสมบูรณ์ จึงยังไม่ควรเรียกว่า วิปัสสนาปัญญา รวมความว่าผู้ที่จักทำกัมมัฏฐาน จำเป็นต้องมีสติปัญญาเดิม เป็นพื้นฐานพอสมควร แต่ถ้าเป็นคนโง่ คือคนขาดปัญญา หมดปัญญา ไม่มีปัญญา หรือมีก็มีเฉพาะสติปัญญาที่เอาไว้ใช้หา-กิน หาอยู่ ของอัตภาพตนไปวันๆ และถ้าเผอิญนึกอยากจะปฏิบัติธรรม หรือมีผู้มาชวนให้ปฏิบัติธรรม ก็ทำได้แต่เพียงตามๆ เขาไป หรือถ้าไม่ตามจักแสวงหาด้วยตนเอง ก็เป็นการแสวงหา และปฏิบัติตามแต่ที่ตนเชื่อโดยมิได้พิจารณาว่า การกระทำเช่นนี้ การปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้ตนฉลาด สะอาด สว่างขึ้นมาบ้างหรือไม่ หรือทำเพราะอาศัยอำนาจแห่งความพอใจ ถูกใจ ชอบใจเป็นพอแล้ว
ถึงแม้จักมีปัญญา ติดตามตัวมามากมายปานใดก็ตามที แต่ก็ยังต้อง ยืนหยัดให้มั่นคงบนแผ่นดิน แผ่นดิน ในที่นี้ ท่านอุปมาดัง ศีล ซึ่งเป็นเครื่องรักษา ส่งเสริมปัญญาให้มั่นคง ศีลเป็นรากฐานของชีวิต ศีลทำให้เราอยู่ห่างไกลความเลวร้าย ชั่ว ผิดบาปหยาบช้าทั้งปวง ศีลทำให้เราตั้งมั่น และอาจหาญคงที่ ศีลทำชีวิตให้อยู่ดีมีสุข ท่านจึงเปรียบศีลเป็นดั่งแผ่นดินที่หนักแน่น มั่นคงและพร้อมที่จะก่อเกิด สรรพชีวิต สรรพวัตถุได้มากมาย ทั้งยังสามารถให้สรรพชีวิตทั้งหลาย ได้ยืนหยัดอยู่อาศัย อย่างมิต้องหวาดผวาหรือหวั่น-ไหว ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน จะต้องชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์สะอาด เหมือนดังบุคคล ชำระแผ่นดินให้หมดจด เหมาะสำหรับที่จะใช้ยืน หรือทำการทั้งปวง
แม้จักมีศีล เป็นเครื่องประคับประคองปัญญาแล้วก็ตาม แต่ยังวางใจไม่ได้ว่า ปัญญาที่มี จะมากพอที่จะพึ่งพิงอิงอาศัย นำพาไปสู่สาระอันยิ่งใหญ่ในชีวิตได้ ท่านจึงกล่าวว่า ฉวยจับ อุปมาดั่งการค้นหาเพิ่มเติมสะสม อาวุธที่คม คือปัญญาภายนอกรอบๆ กายตน ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟัง พิจารณา
ด้วย มือ หมายถึง การทดลองทำด้วยตนเอง เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ได้ศึกษา เล่าเรียนรับฟังมานั้น มีผลเป็นประการใด ถึงแม้ว่าจะมีปัญญาที่ได้มาจากการสะสมเพิ่มเติมแล้วก็ตามที แต่ก็ยังแน่ใจวางใจไม่ได้ว่า ปัญญาชนิดนี้จะพาตัวรอด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือก ชำระล้าง ขัดเกลา พัฒนาปัญญาที่ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า โลกียปัญญา ให้อยู่ในสถานะ อันเป็นที่พึ่งอาศัยได้อย่างแท้จริง และด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องพัฒนาลับปัญญา เครื่องลับนั้นท่านเรียกว่า หิน หมายถึงการมีสติอย่างจดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งมั่น จนกลายเป็นสมาธิ สองสิ่งนี้ถือได้ว่า มีคุณสมบัติในการขจัดขัดเกลา ชำระล้าง เกาะแกะสรรพกิเลสทั้งปวง สรรพมลทินทั้งหลายที่แอบแฝงอยู่ในโลกียปัญญา ให้กลายเป็นโลกุตรปัญญาในทันทีทันใด ทำเดี๋ยวนี้ เห็นผลเดี๋ยวนี้ ทำเวลานี้ได้ผลทันที ได้ผลขณะที่ลงมือกระทำ จะดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ใช้ได้หรือไม่ได้ วิธีนี้เราจะรับรู้ได้ด้วยตน-เองในทันที วิธีนี้ดูจะเป็นเครื่องหนุนนำให้ผู้ปฏิบัติ เป็นคนหนักแน่นมั่นคงในความรู้ที่ตนได้รับ จากการกระทำแล้วเห็นผลเช่นนี้จึงถือว่าเป็นปัญญารู้จริง มิใช่รู้จำ อีกทั้งยังทำให้ตนพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่า ความรู้ที่มีหรือได้รับนี้ เป็นความรู้ที่ทำให้ตนเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการมีชีวิตหรือไม่เช่นนี้จึง กลายเป็นปาริหาริกปญฺญาคือ ปัญญาที่ทำให้ตนแน่ใจว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับสัตว์ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
แล้ว มีความเพียร หมายถึง การมีความรัก ความพอใจในสิ่งที่ตนกำลังกระทำ ถ้ายังไม่มี แต่คิดที่จะกระทำ จะด้วยความจำเป็นหรือจำยอมก็ตาม จักต้องพยายามสร้างความนัก ความพอใจในกิจกรรมการงานทั้งให้ได้เสียก่อน แล้วลงมือกระทำด้วยความเพียรพยายามอย่างจดจ่อ จริงจัง จับจ้อง ตั้งใจ พร้อมกับใช้วิจารณญาณ ปัญญา ใคร่-ครวญ พิจารณา ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนให้ถ่องแท้ เหล่านี้คืออิทธิบาททั้ง 4 อันได้แก่ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความเอาใจจดจ่อ) วิมังสา (การใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณา) อันเป็นแม่บทในการกระทำ เป็นหัวใจของความสำเร็จทั้ง-ปวง
ประโยคที่ว่า ถางป่าที่รก ให้เตียนไป หมายถึง สรรพกิเลสทั้งปวง สรรพทุกข์ทั้งปวง สรรพภัยทั้งปวง จะขจัดชำระล้างทำลายลงไปได้ ด้วยอาศัยความเพียรพยายามอย่างยิ่ง ความอดทน อดกลั้นอย่างยิ่ง ความรักตนเองแท้ๆ อย่างยิ่ง และท้ายที่สุด ต้องมีอริยปัญญาอันยิ่ง จึงจะสามารถทำลายสรรพกิเลสทั้งปวง สรรพทุกข์ทั้งปวง สรรพภัยทั้งปวง ที่ติดแน่นนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาเนิ่นนานยาวไกลลงได้
สรุป เมื่อเรามีปัญญาติดตัวมาแต่ปางก่อน ควรที่จักทำให้ปัญญานั้น ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานคือ ศีลอันสมบูรณ์อย่างไม่หวั่นไหวพร้อมทั้งเพิ่มเติม สะสม ปัญญานอกกาย แม้จะเป็นโลกียปัญญาก็ตาม ถ้าผ่านกรรมวิธีในการตรวจสอบ ชำระล้าง ขัดเกลา พัฒนาอย่างละเอียดถี่ถ้วนสมบูรณ์ด้วยสติและสมาธิ (ลับด้วยหิน) โลกียปัญญานั้น ก็จักกลับ-กลายเป็น โลกุตรปัญญาในฉับพลัน แต่ทั้งนี้กรรมทุกชนิด กิจทุกอย่าง ต้องกระทำด้วยความรัก ความพอใจเพียรพยายาม บากบั่น อดทน อดกลั้น ด้วยความจดจ่อ จับจ้อง จริงจังตั้งใจ ด้วยการใช้สติปัญญาใคร่ครวญ พินิจ พิจารณ์ อย่างถ่องแท้และละเอียดถี่-ถ้วน จึงจะประสบผลอันควรแก่การปฏิบัติ
รู้จริง ไม่ต้องจำ ทำได้ มีประโยชน์
รู้ไม่จริง ถึงจำ ทำไม่ได้ มีแต่โทษ
(คล้ายกับคำสอนที่อาวาสธรรมะอิสระที่ท่านสอนว่า หยิบดาบ ชักดาบ ลับดาบ ฆ่าฟันศัตรู)

ตอนที่ 2 บุพกิจก่อนการเจริญกัมมัฏฐาน
เพื่อ ให้แน่ใจว่า ท่านกำลังเพียรพยายามพาตนเดินเข้ามาสู่วิถีแห่งพุทธะ คือรู้ตื่น และเบิกบาน ก่อนอื่นท่านต้องจัดการกับเครื่องผูก เครื่องข้อง และเหตุแห่งความกังวล หรือทำลายเหตุแห่งความกังวล หรือทำลายเหตุแห่งความกังวลทั้งหลาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นขยะ ที่สะสมอยู่ในตัวท่านให้ได้เสียก่อน โดยวิธีสลัดตัดกังวลทั้งปวง ชำระล้างขยะเก่า ทั้งที่ปรากฏภายในกาย และที่ปรากฏภายนอกกาย จัดว่าเป็นขยะใหม่ เหล่านี้เป็นกิจจำเป็น เบื้องต้น ของการมีชีวิตเบื้องต้น รวมทั้งต้องกระทำต่อไป จนกว่าจะถึงเบื้องปลายของชีวิต เพื่อปลดปล่อยชีวิตท่าน ให้เป็นอิสระจากเครื่องร้อบรัด ผูกพันและเป็นกังวลต่อการดำรงชีวิต ท่านต้องเพียรพยายาม ที่จักให้เสรีภาพแก่ตัวท่านเอง โดยการปล่อยภาระทุกอย่างกิจกรรมทุกเรื่อง ด้วยความคิดที่ว่า คราใดที่เราต้องการเข้าสู่วิถีแห่งพุทธะ ครานั้นทั้งหมดขององค์ประกอบแห่งชีวิตกรรมทุกชนิด กิจทุกอย่าง ต้องเป็นไปเพื่อการปล่อยวาง ต้องเป็นไปเพื่อความไม่สะสม ต้องเป็นไปเพื่อความสลัดหลุด ไม่ปล่อยให้อะไรๆ มามีอำนาจเหนือเรา
ปราชญ์ผู้รู้ ท่านให้ตัวอย่างแห่งความข้อง ความกังวลเอาไว้ 10 อย่าง คือ
1. อาวาสปลิโพธ ความกังวลใจในที่อยู่อาศัย เช่น กังวลว่าได้ที่อยู่กว้างไป ดูแลรักษายาก ได้ที่อยู่ดีเกินไป ไม่เหมาะแก่ผู้ถือสันโดษ ได้ที่อยู่แคบไป ไม่พอที่จักผ่อนคลายอิริยาบถ ได้ที่อยู่ที่สว่างไป ยากต่อการทำใจให้สงบ ได้ที่อยู่มืดไป ทำให้เกิด ปัญหาต่อการมองและดำรงชีวิต ได้ที่อยู่อับ ไม่สามารถทำให้อากาศถ่ายเทได้ ที่อยู่ชื้นแฉะ ก็จะกังวลใจว่า อาจจะก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ ได้ที่อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิร้อนไป ทำให้อยู่ยากไม่เป็นที่สบายได้ที่อยู่เย็นเกินไป ดูจะเป็นเรื่องลำบากต่อการดำรงชีพ ไม่ได้ที่อยู่ในทิศที่ตนกำหนด ไม่ได้ที่อยู่ในภูมิประเทศที่ตนต้องการ ไม่ได้ที่อยู่ ในบรรยากาศที่ตนอยากได้ ไม่ได้ที่อยู่ที่ดีพอเหมาะแก่ตน ไม่ได้ที่อยู่ที่ตนถูกใจ ไม่ได้ที่อยู่ที่สะดวกสบาย ไม่ได้ที่อยู่ที่ทำให้ตนผ่อนคลาย รวมทั้งกังวลว่า ตนจะไม่ได้ในที่อยู่ใดๆ เลย เหล่านี้เป็นความกังวลใจในเรื่องอาวาส
2. กุลปลิโพธ หมายถึง ความห่วงสกุลอุปัฏฐาก หรือบุคคลผู้ช่วยเหลือสนับสนุนตน เช่น ห่วงกังวลว่า ถ้าเราปลีกตนออกปฏิบัติธรรมแล้ว จะมีใครคอยอนุเคราะห์แก่สกุลอุปัฏฐากของเราด้วยกุศลธรรมบ้างไหมหนอ หรือไม่ก็ห่วงกังวลว่า ญาติผู้อุปัฏฐากเรา จักคงได้รับอันตรายจากอุบัติภัยต่างๆ ไหมหนอ หรือไม่ก็รู้สึกลังเลกังวลว่า เราจะจากตระกูลอุปัฏฐากที่รู้ใจ คอยเฝ้าระวังอุปัฏฐากเราด้วยอาหารที่มีรสอันเลิศ สิ่งของเครื่องใช้อันประณีต เราจักได้รับอุปัฏฐากด้วยสิ่งของอันเลิศ และประณีตเช่นนี้ จากที่เราจะไปอาศัยไหมหนอ หรือไม่ก็กังวลใจว่า ตระกูลอุปัฏฐากของเราเป็นตระกูลใหญ่มีบริวารอันมาก เราผู้ตระกูลนี้บูชา อุปัฏฐาก ก็พลอยมีบริวารมากไปด้วย ถ้าเราจากไปเสียแล้ว บริวารเหล่านี้จะปรากฏแก่เราจากใครที่ไหนหนอ ท้ายสุดก็กังวลใจต่อไปว่า เมื่อเราปลีกตัวออกปฏิบัติธรรมแล้ว ผู้อุปัฏฐากจะลืมตน พากันไปอุปัฏฐากผู้อื่น เราก็จักไม่มีผู้อุปัฏฐากอีกต่อไป
3. ลาภปลิโพธ ความห่วงกังวลใจในลาภที่มีอยู่ จะหมดไปเหตุเพราะ เคยได้ลาภอันประณีตจากหมู่ชนที่ตนคุ้นเคย ไปอยู่ที่ใหม่หรือไปปฏิบัติธรรมในที่ไกล อาจจะได้ลาภไม่ดีเหมือนเก่าหรือไม่เท่าเก่า รวมทั้งกังวลใจว่า ก่อนและหลังปฏิบัติธรรมแล้ว จักได้ลาภน้อยลง หรือมากขึ้นกว่าเดิมไหมหนอ
4. คณปลิโพธ ห่วงใยกังวลใจในหมู่คณะที่อยู่ร่วม หรืออยู่ในใต้บังคับบัญชาจะรับผิดชอบของตน ว่าจะมีชีวิตเป็นอยู่กันอย่างไร ใครจะเป็นผู้อบรมสั่งสอน ใครจะเป็นผู้อนุเคราะห์เกื้อกูลด้วยปัจจัย 4 แก่เขาเหล่านั้น อันตรายที่จักเกิดขึ้น ใครจักเป็นผู้ชี้เตือนป้องกัน รวมทั้งกังวลใจว่าเมื่อตนจากไปแล้ว จะสูญเสียอำนาจในการบังคับบัญชา กังวลใจว่า หมู่คณะจะไม่เชื่อฟังตนต่อไป
5. กัมมปลิโพธ คือความกังวลใจต่อหน้าที่การงานที่ตนรับผิดชอบ กังวลใจต่อการงานที่ทำคั่งค้าง คาราคาซัง กังวลใจต่องานที่ดำริจะทำต่อไป และกังวลใจต่อปัญหาของการงานที่มาถึงตนแล้วและยังมาไม่ถึง
6. อันตธานปลิโพธ กังวลใจ ต่อระยะทางที่จะเดินไปปฏิบัติธรรม กังวลใจต่อระยะทางที่จะกลับมาสู่ที่อาศัย กังวลใจต่อหนทางที่จะเดินไปบิณฑบาต กังวลใจต่อทางที่จะเดินไปหาทางน้ำหรือแหล่งน้ำ กังวลใจต่อระยะทางที่จะไปรักษาพยาบาลเมื่อตนเจ็บป่วย สุดท้าย กังวลใจต่อหนทางที่จะเดินมาสู่สถานที่ให้การศึกษาอบรม
7. ญาติปลิโพธ หมายถึง ความห่วงใยกังวลใจ ที่ตนจะเหินห่างกับญาติสายโลหิตของตน กังวลห่วงใยว่า เมื่อเราจากไปแล้วญาติของเราจักอยู่เป็นสุขไหมหนอ เมื่อเราจากไปแล้ว ญาติของเราจักเป็นทุกข์เดือดร้อนประการใดหนอเมื่อเราไปแล้วญาติของเราจักมี อุบัติภัย อันตรายใดๆ ไหมหนอ เมื่อเราจากไปแล้ว ญาติกับเราต้องห่างเหินกันจนลืมซึ่งกันและกันไหมหนอ
8. อาพาธปลิโพธ คือความกังวลใจว่า สถานที่ที่เราไปปฏิบัติธรรมนั้นจักมีภัยจากความเจ็บไข้ไม่สบายหรือเปล่าหนอ เราจักเจ็บไข้ในที่นั้นหรือเปล่าหนอ เราจะติดโรคเจ็บไข้จากผู้อื่นที่อยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับเราหรือไม่หนอ จักมียาอะไรรักษาโรคเหล่านั้นไหมหนอ จะไปเอายาหรือหาหมอรักษาโรคได้จากที่ไหนหนอ แล้วจักรักษาหายไหมหนอ โรคที่เราเป็นอยู่เดิม จะทำให้เกิดเวทนามากขึ้น เมื่อเราไปปฏิบัติธรรมไหมหนอ เราจักถึงตายเพราะโรคร้ายหรือไม่หนอ (ข้อนี้ท่านแนะนำว่า ถ้าเจ็บไข้อยู่เดิมแล้ว ก็ให้รีบรักษาเสียให้หาย จะได้ไม่เป็นกังวล แต่ถ้าไม่หาย ก็ให้สลัดความกังวลหวาดกลัวในโรคนั้นทิ้งให้ได้ แล้วมุ่งมั่น เร่งรีบปฏิบัติธรรม เพื่อเอาชนะความตาย)
9. คันถปลิโพธ ได้แก่ ความกังวลห่วงใย ต่อการสะสมวิทยาการต่างๆ โดยกังวลว่า เราเสียเวลามาปฏิบัติ อยู่เช่นนี้ ไม่รู้ว่าจะมีมรรคผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ทำไมไม่เอาเวลาที่มีไปเรียนและสอบให้ได้ใบประกาศนียบัตร ดูจะดีกว่าไหม เราเรียนไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วย จะไม่ดีกว่าหรือ การปฏิบัติธรรมที่มีอยู่นี้หรือจะสู้ศึกษาท่องจำตำรา รีบๆ ขวนขวายศึกษาสะสมวิทยาการต่างๆ เอาไว้ก่อนดีกว่าไหม อย่างน้อยศึกษาได้มากแค่ไหน สังคมโลกก็ย่อมยอมรับเรามากแค่นั้น เพราะเรามีหลักฐานยืนยัน แต่การปฏิบัติธรรม ถ้าเสียเวลาทำไปแล้วไม่แน่ใจว่าจะได้ผล หรือถ้าเผอิญได้ผลขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าจะเอาหลักฐานอะไรไปยืนยันให้สังคมยอมรับ (ท่านมีคำแนะนำว่า ควรจะศึกษาพอเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติ จึงจะดูสวยงาม กลมกลืน)
10. อิทธิปลิโพธ ความห่วงใยวิตกกังวลว่า การปฏิบัติเช่นนี้ๆ จะทำให้เกิดปาฏิหาริย์อย่างนั้นอย่างนี้ วิตกกังวลอยู่เช่นนี้จนกลายเป็นว่า ทุกครั้งที่ปฏิบัติธรรมจิตใต้สำนึกจะคอยแต่จะระลึกถึงแต่เรื่องอิทธิวิตก จนจิตไม่สงบ (ท่านมีคำแนะนำไว้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติธรรมพึงสำนึกว่า ธรรมที่เราปฏิบัติอยู่นี้ เพื่อฟอกจิต เพื่อชำระจิตให้สะอาดปราศจากมลทิน ปฏิบัติธรรมเพื่อให้เห็นความจริงของโลกได้แก่ความจริงที่ว่า สรรพสิ่งในโลกและจักรวาลนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ปฏิบัติธรรมให้เห็นเช่นนี้ด้วยปัญญา มิใช่เห็นด้วยสัญญา ท่านเตือนว่า ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อมุ่งหวังอิทธิวิตก มักจะมีอาการวิกลจริตเพราะจิตวิตกกังวล)
สรุป ความกังวลทั้ง 10 ประการดังกล่าวมานี้ ถือได้ว่าเป็นเครื่องกางกั้นท่านกับธรรมปฏิบัติ เป็นเครื่องกีดขวางสายธารแห่งธรรม ที่จะหลั่งไหลเข้าสู่ดวงจิต เป็นเครื่องห่อหุ้มปกคลุมดวงจิตให้มืดบอด เป็นเครื่องทำร้ายทำลายท่าน ให้ไม่รอดพ้นจากพิษภัยแห่งวัฏฏะ เป็นเครื่องพันธนาการจิตวิญญาณของท่าน ให้ตกอยู่ในอำนาจของเหล่ามาร และเสนามารทั้งปวง อย่าเลย จงหยุดเถิด เราพอแล้ว เราวางแล้ว เราปลดปล่อยตนเองจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงแล้ว เรากำลังจะก้าวเดินเข้าไปสู่มรรคาแห่งมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว เรากำลังจะแสวงหาเสรีภาพ และอิสรภาพจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงแล้ว
วลีเหล่านี้ คิดว่า น่าจะใช้จัดการกับความห่วงใยวิตกกังวลทั้งหลายได้ดี หวังว่าท่านคงจะมีชัยชนะ

ตอนที่ 3 มาลองรู้จักตัวเองกันเถิด
เมื่อ ท่านสามารถปลดปล่อยตัวเอง ออกมาจากความห่วงกังวล นานัปการแล้ว ต้องถือว่า ท่านสอบผ่านการปฏิบัติธรรมในขั้นต้น มาได้ขั้นหนึ่ง ต่อไปนี้ จะเป็นแบบฝึกหัดของการปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือ แบบฝึกหัด ที่ว่าด้วยการทำความรู้จักตนเอง เข้าใจตัวเอง แจ่มแจ้งในตนเอง จึงจักถือว่า ท่านพร้อมที่จะควบคุมตัวเองได้ ไหว้ตนเองถูก
เหล่า นี้คือแบบฝึกหัดในขั้นนี้ เป็นแบบฝึกหัดที่จำเป็นพอสมควร สำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จะเป็นผู้เก่าหรือผู้ปฏิบัติใหม่ก็ตาม ต้องทำความเข้าใจ ให้เกิดความรู้จริง มิใช่รู้จำ ส่วนวิธีที่จะทำความรู้จักตนเองนั้น ดูจะไม่ยาก เพราะพระบรมศาสดาผู้ประเสริฐพระองค์นั้น ท่านทรงชี้บอกพวกเราให้ได้รู้ว่า ธรรมชาติในโลกนี้ มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือธรรมชาติในตัวกับธรรมชาตินอกตัว ธรรมชาตินอกตัวนั้นได้แก่ สัปปายธรรม แปลว่า สิ่งของ สถานที่หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะสม เกื้อกูล เอื้ออำนวยแก่ผู้ปฏิบัติธรรมมีอยู่ 7 อย่างคือ
1. อาวาสสัปปายะ หมายถึง ที่อยู่อาศัยที่สบาย เหมาะแก่การปฏิบัติจิตให้สงบ โดยปราศจากสิ่งรบกวนนานาประการ เช่น คนกวน สัตว์กวน เสียงกวน กลิ่นกวน บรรยากาศรอบข้างกวน เหตุอันไม่เอื้อต่อการทำจิตให้สงบ ผู้ปฏิบัติ-ธรรมควรเลือกสถานที่ปฏิบัติที่ไม่รโหฐานเกินตัวนัก เพราะจะทำให้ยุ่งยากต่อการดูแลรักษา แต่ต้องไม่คับแคบเกินไป จะทำให้อึดอัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ไม่ใหม่เกินไป หมายถึงสีสันต้องไม่ฉูดฉาดมากนัก เป็นการเย้ายวน จิตให้ฟุ้งซ่าน จักทำจิตให้สงบได้ยากไม่เก่าจนเกินไป จนไม่สามารถป้องกันภัยจากธรรมชาติ เช่น ฝนตก ลมพัด อากาศหนาว ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับความชอบใจ พอใจ ปลงใจ พอดี ของผู้ปฏิบัติธรรมแต่ละท่าน
2. โคจรสัปปายะ หมายถึง หนทางที่เดินไปหาอาหารได้มาอย่างสบาย สบายในที่นี้ท่านจำแนกไว้ 2 ชนิดคือ
สบาย กายกับสบายใจ สบายกายได้แก่ เดินไปในทางที่ไม่รกชัฏ ไม่ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือถึงกับต้องปีนป่าย ทุรกันดารมากเกินไป และต้องไม่ไกลมากนัก จนทำให้เกิดทุกข์ยาก กังวลใจจนกลายเป็นต้องรีบเร่ง จ้ำเอาๆ เพื่อให้ทันเวลาอาหาร กิริยาเช่นนี้ผู้อื่นดูแล้วไม่สำรวม ไม่งาม เป็นกิริยาของผู้ละโมบ ตะกรุมตะกราม ไม่ใช่ลักษณะของสมณวิสัย
สบาย ใจ หนทางที่เดินไปนั้น ควรเลือกทางที่ร่มรื่นสงบเย็นไม่มีศัตรูหรือเครื่องล่อใดๆ มาทำให้จิตกระเพื่อม ไม่เดินไปในทางที่เป็นเหตุแห่งการครหานินทา เสียหาย ไม่เดินไปในทางที่จะทำให้ชีวิตเสื่อมสลายจากพระธรรม
3. กถาสัปปายะ คำพูดที่ผู้ฟัง ฟังแล้วผ่อนคลาย สบายใจ ฟังแล้วฉลาด สะอาด สงบ พูดแล้วยังให้เกิดศรัทธาต่อการปฏิบัติ เป็นคำพูดที่สนับ-สนุนส่งเสริม ให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีกำลังใจที่จะปฏิบัติต่อไปยิ่งๆ ขึ้น เป็นคำพูดที่แนะนำประโยชน์ทำลายโทษได้
4. ปุคคลสัปปายะ ได้แก่ บุคคลรอบข้างทำให้สบาย หมายถึงผู้ปฏิบัติ ถ้าคิดจะอยู่ในสังคม ก็ให้เลือกสังคมแวดล้อม ที่เป็นนักปฏิบัติธรรมด้วยกัน แล้วต่างฝ่ายต่างเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน โดยตั้งกัลยาณจิตไว้ในตนว่า จักช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการปฏิบัติธรรมด้วยความเต็มใจ จริงใจ บริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ ในการปฏิบัติต่อกันอย่างจริงจัง พร้อมที่จะไม่เป็นตัวสร้างปัญหาอันเป็นเหตุให้เสื่อมถอยต่อการปฏิบัติให้ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องรับผลเสียและไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ
5. อาหารสัปปายะ หมายถึง อาหารที่บริโภคแล้ว ทำให้ผู้บริโภคสบาย ต้องเป็นอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ต้องเป็นอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดกระบวนการสะสม จนเป็นมลพิษแก่ชีวิตตนต้องเป็นอาหารเพื่อผ่อนคลายความหิวอย่างแท้จริง ต้องเป็นอาหารที่มิใช่ได้มาเพราะความมักมาก ต้องไม่เป็นอาหารที่บริโภคเพื่อจะบำรุงบำเรอร่างกาย ต้องเป็นอาหารที่ไม่สร้างภาระมากนัก
6. อุตุสัปปายะ คำว่าอุตุหมายถึง ฤดู อุณหภูมิ หรือสภาพแวดล้อม รวมความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจำเป็นต้องเลือกอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นที่สบายแก่ตน จะยังให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติได้มากทีเดียว เพราะนักปฏิบัติ-ธรรมผู้มีประสบการณ์น้อย ยังขาดความมั่นคงต่อการปฏิบัติ หากไม่อยู่ในสภาพ-แวดล้อมที่ดี ไม่เหมาะแก่ตนเอง ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นที่เจริญหู เจริญตา เจริญใจ ไม่ช่วยให้จิตสงบสบาย ก็อาจจะทำให้ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ อาจทำให้เกียจคร้านต่อการปฏิบัติไปโดยปริยาย ฉะนั้น สภาพแวดล้อมที่ดี อุณหภูมิเหมาะสม ดูจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติอยู่เหมือนกัน
7. อิริยาปถสัปปายะ คืออิริยาบถที่สบาย ผ่อนคลายทำได้นาน ถือว่าอิริยาบถนั้นเหมาะสมกับตนที่สุด การบำเพ็ญธรรมไม่จำเป็นต้องผูกขาดตายตัวอยู่ในอิริยาบถใด อิริยาบถหนึ่ง ต้องถือว่าทุกอิริยาบถสามารถทำให้เราเข้าถึงธรรมได้ เพียงแต่ว่าถ้าอิริยาบถใด ทำให้จิตสงบระงับได้ง่าย ตั้งมั่นอยู่ได้นาน รู้ทั่วถึงธรรมได้เร็ว ก็ให้ถือว่าอิริยาบถนั้นเป็นที่สบายสำหรับเรา (สำหรับผู้ที่ชอบนั่ง และสามารถที่จักนั่งได้ เป็นที่สบายแก่ตน เพราะศาสดาทรงบัญญัติเครื่องรองนั่งเอาไว้ ทรงเรียกว่า นิสีทนะ ผ้าปูนั่ง เครื่องรองนั่ง ผู้เขียนแนะนำว่า ถ้าจะนั่งให้ถูกวิธี และไม่ผิดต่อหลักโครงสร้างสรีระ แถมยังเป็นที่สบายแก่ ผู้นั่ง ควรหาหมอนที่ยัดด้วยอะไรก็ได้ ที่มีความยืดหยุ่นพอ กว้างยาวเท่ากัน เช่น หมอนเหลี่ยมของทางอีสาน มารองที่ก้นกบของตน ส่วนเท้าและท่อนขา เข่า ปล่อยทับอยู่บนเสื่อหรือผ้า ถ้าไม่มี ก็เป็นพื้นเรียบๆ ธรรมดาก็ได้ แต่ต้องมีหมอนรองก้น เพื่อให้ลำตัวตั้งตรงกระดูกสันหลังไม่ขบบิด จะได้ไม่ทรมาน ทั้งยังทำให้นั่งได้นานด้วย)
สรุป ที่กล่าวมาแล้วนี้ คือธรรมชาตินอกกาย ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลแก่วิถีธรรมของตนก็ได้ หรืออาจจะไม่มีอิทธิพลต่อชีวิตตนเลยก็ได้ ถ้าคิดว่าเรารู้จักตนเองอย่างแจ่มชัด เข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง ควบคุมตนเองได้ เป็นเจ้า-นายตัวเอง เป็นเจ้าของชีวิตตัวเองจริงๆ ธรรมชาตินอกกายดังกล่าวมานี้ ดูจะไม่มีอำนาจครอบงำเราได้เลย ทั้งนี้ สุดแต่ดุลพินิจของเพื่อนนักปฏิบัติธรรม จะพิเคราะห์ใคร่ครวญเลือกสรรเอาเอง ตามแต่จะเห็นสมควร
เมื่อนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้ทราบถึงธรรมชาตินอกกายตนไปแล้ว ก็จักขอบอกกล่าวถึงธรรมชาติ ในกายตนต่อไป ซึ่งพระพุทธะผู้เจริญ พระองค์ได้ทรงชี้ให้ชาวเราทั้งหลาย หันเข้ามามองและสังเกตสิ่งที่มีอยู่ในกายตน แล้วทรงสั่งสอนให้รู้จักแยกแยะว่า อะไรเป็นสาระและไร้สาระ ทั้งยังทรงบอกวิธีกำจัดสิ่งที่ไร้สาระ ระวังรักษาสร้างเสริมสิ่งที่เป็นสาระให้คงอยู่ เจริญขึ้นจนเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ ธรรมชาติภายใน กายที่มีอยู่ในอุปนิสัย เป็นสิ่งที่ผูกสนิทติดตัวเราอยู่ ท่านเรียกว่า จริต คือ สิ่งที่มีประจำอยู่ในจิต อย่างชนิดจำเจ ซ้ำซากจนติดเป็นนิสัย จริตในกายเรามีอยู่ 6 อย่างคือ
1. ราคจริต หมายถึง ผู้มีอุปนิสัยซ้ำซากจำเจกับความรักสวยรักงาม ผู้มีจริตเช่นนี้จะเป็นคนที่นิยมชมชอบ ความมีระเบียบเรียบร้อย เป็นผู้มีรสนิยมสูง ทะเยอทะยาน ฟุ้งเฟ้อ หนักไปทางละโมบ
วิธี แก้ ท่านแนะนำให้ ทำ หา ใช้ สิ่งตรงกันข้ามกับความสวยงาม เช่น ให้ใช้เครื่องอุปโภค บริโภค ที่ตรงกันข้ามกับความสวยงาม คือ เครื่องอุปโภคบริโภคที่เศร้าหมอง ไม่บริโภคของที่มีรูปสวย ไม่บริโภคของที่มีสีฉูดฉาด ไม่บริโภคของที่มีกลิ่นหอมรุนแรง ไม่บริโภคของที่มีรสจัด
อิริยาบถ ที่เหมาะกับการบำเพ็ญธรรม ของผู้มีราคจริตก็คือ...อิริยาบถยืนและเดิน พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนให้มากที่สุด
สี ที่แก้ราคจริตได้ดี คือ สีเขียว หรือไม่ก็ให้เลือกโทนสีมอซอ เศร้า-หมอง
รา คจริต มีกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่ตนคือ กายคตานุสติ กัมมัฏฐาน พิจารณาอาการที่เกิดขึ้นในกายตนเป็นอารมณ์ อสุภกัมมัฏฐาน พิจารณาให้เห็นสิ่งปฏิกูล สกปรก ที่มีอยู่ในกายตน และคนอื่น มรณานุสติกัมมัฏฐาน พิจารณาถึงความตาย ขณะที่เห็นสัตว์อื่นตาย กำลังตาย หลังตาย มีสภาพเช่นไร จนทำให้เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดยินดี ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
2. โทสจริต ได้แก่ผู้มีอุปนิสัยซ้ำซากจำเจอยู่ในอารมณ์หงุดหงิด ฉุน-เฉียว โกรธง่าย ใจร้อน มักทำอะไรลวกๆ หยาบ รวดเร็ว มักง่าย ดูจะเป็นผู้มีกิริยากระตือรือร้น จนกลายเป็นความร้อนรนอยู่ไม่ค่อยติดที่ เหมือนจะไม่มีความสุข เป็นผู้ทนต่อคำสอนได้ยาก ปฏิบัติตามระเบียบวินัยลำบากไม่ค่อยอยากทำตาม ชีวิตเป็นอยู่มักจะไม่ค่อยรักษาความสะอาด
วิธีแก้ ท่านแนะให้หาเครื่องอุปโภคบริโภคที่ประณีตบรรจง สวยงาม มีรูปลักษณ์อันละเอียดอ่อน มีสีสดใส มีกลิ่นหอมสดชื่น มีรสอันละเมียดละไม กลมกล่อม ให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย คบหาสมาคมกับผู้มีกิริยาวาจาสุภาพ ใจคอโอบอ้อมอารี
อิริยาบถ ที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมของผู้ที่มี โทสจริต คือ อิริยาบถนั่งหรือนอนมากกว่ายืนและเดิน
สี ที่ควรใช้ คือสีขาวและสีฟ้าอ่อน ต้องเป็นสีที่ใช้แล้วเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย
โทส จริต เหมาะสมกับกัมมัฏฐานที่ว่าด้วย การเจริญเมตตา ซึ่งมีอยู่ในพรหมวิหาร 4 โดยตั้งความรัก ความปรารถนาดี คิดช่วยให้สัตว์ผู้ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่รอดปลอดภัย พ้นจากทุกข์ โทษภัยทั้งปวง พร้อมทั้งภาวนาในใจว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข จาคานุสติกัมมัฏฐาน บริจาคให้ปันสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมไปถึง ให้น้ำใจ ให้อภัย ให้ธรรม โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และวรรณกสิณ 4 คือ กสิณสีม่วง กสิณสีเหลือง กสิณสีแดง กสิณสีขาว
3. โมหจริต หมายถึง ผู้มีอุปนิสัยซ้ำซาก จำเจในอารมณ์ หงอยเหงา ซึมเศร้า ไม่ค่อยกระตือรือร้น มีกิริยาอาการเซื่องซึม เชื่องช้า ความรู้สึกนึกคิดไม่ค่อยปลอดโปร่ง ไม่ค่อยมีปัญญาหลังยาว ขี้เกียจ เวลาจะทำอะไร หรือใครมาชวนให้ทำอะไรก็มักจะทำตามๆ เขาไป ไม่ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ถ้ามีผลตอบรับมาเล็กๆ น้อยๆ ก็หลงเชื่ออย่างหัวปักหัวปำ คนเช่นนี้จะมีอยู่มากในสังคม ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนา ทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณ
วิธีแก้ไข ท่านให้เลือกเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีขนาดใหญ่ เช่น ที่อยู่อาศัย ก็ต้องให้มีขนาดใหญ่ โอ่โถง เปิดโล่ง มีการระบายอากาศได้ดี เปิดให้แสงสว่างจากธรรมชาติสาดส่องเข้ามาในที่อยู่อาศัยได้มากที่สุด อุปกรณ์เครื่องใช้ทุกชนิด พยายามเลือกที่มีสีสันสดใส อาหารการกินก็ให้ประดับประดาตกแต่งอย่างประณีตวิจิตรบรรจง รสชาติต้องปรุงให้จัดจ้านพอสมควร กลิ่นต้องมีกลิ่นที่รุนแรง พยายามเลือกคบคน หรือเลือกเข้าสังคมที่กระตือรือร้น มีระเบียบวินัย ทำอะไรด้วยความคิดไตร่ตรอง รอบคอบ หาสังคมที่สามารถแนะนำประโยชน์ ชี้สิ่งที่เป็นโทษให้เรารู้ได้ เป็นสังคมที่อาจสอนให้เราทำอะไรๆ ด้วยความรวดเร็ว เร่งรีบ รวบรัด เรียบร้อย ฉลาด สะอาด สว่าง สงบ สิ่งที่กล่าวมานี้ ดูจะเป็นที่สบายแก่ผู้มีโมหจริต
อิริยาบถ ที่เหมาะแก่ผู้มีโมหจริตได้แก่ อิริยาบถยืนกับเดิน พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนให้มากที่สุด ถ้ามุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงนิสัย แก้ไขพฤติกรรมของตน
สี ต้องใช้สีดูแล้วสดใส สว่างไสว เช่น สีทอง สีเหลือง สีขาว
โมหจริต มีกัมมัฏฐานที่เป็นที่สบายคือ อานาปานสติกัมมัฏฐาน การระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก
4. สัทธาจริต หมายถึง ผู้มีอุปนิสัยจำเจซ้ำซาก ในทางหลงงมงาย เชื่อง่าย มีอุปาทาน คือความยึดถือมาก ใครมาพูด มาบอก มาชวนอะไร ที่ตรงใจ ถูกใจ พอ-ใจ ชอบใจ ก็จะหลงเชื่อเขาไปหมด เป็นบุคคลที่ด้อยทางปัญญา ไม่ค่อยมีความคิดไตร่ตรองใคร่ครวญ ไม่ละเอียดอ่อน ขาดความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อเชื่อหรือศรัทธาที่จะทำอะไรแล้ว จะทำอย่างหัวปักหัวปำ ดูคล้ายคนขยัน แต่ขยันไปในทางที่ไม่ค่อยฉลาด ดูเหมือนจะเป็นคนจริงจัง แต่เป็นความจริงจังในความหลง ถ้าจะมีระเบียบวินัย ก็เป็นระเบียบวินัยที่เป็นไปในความเชื่อผิดๆ ไม่ใคร่พิเคราะห์ พิสูจน์ทราบกับเขานัก ไม่ค่อยมีความคิดเป็นของตัวเอง ถ้าเผอิญคิดได้ ก็เป็นความคิดที่ไม่แยบคาย เป็นความคิดที่ไม่ทำลายปัญหา แต่กลับเป็นความคิดที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเสียด้วยซ้ำ
วิธี แก้ ต้องพยายามอยู่ในสังคมของคนที่มีปัญญา คบหาผู้คนที่เขามีความจริงใจ มีน้ำใจที่จะนำ วิถีคิด วิถีงาน วิถีชีวิต วิถีจิต ที่เป็นวิถีพุทธะ คือ รู้ ตื่น และเบิก-บานให้กับเรา เครื่องอุปโภคบริโภค ควรมีรูป รส กลิ่น สี ที่สดใสสวยงาม ละเอียดอ่อน ประณีตบรรจง หอมหวาน กลมกล่อม และเป็นระเบียบเรียบร้อย
อิริยาบถ ที่ควรแก่ผู้มีสัทธาจริต ก็คือ อิริยาบถนั่ง หรือนอนมากกว่ายืนและเดิน
สี ที่เหมาะได้แก่ สีขาวสดใส สีฟ้าอ่อน สีครีม หรือจะเป็นโทนสีที่สว่าง สีใดสีหนึ่งก็ได้
สัทธาจริต กัมมัฏฐานที่เป็นที่สบาย ได้แก่ อนุสติ 6
พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์
สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์
สีลานุสติ ระลึกถึงคุณแห่งศีล วิธีรักษาศีล อานิสงส์แห่งศีลเป็นอารมณ์
จาคานุสติ ระลึกถึงการให้ปัน บริจาค เสียสละด้วยจิตเมตตา
เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณธรรมของเทวดา รักษา คุณธรรมนั้น ให้เจริญขึ้นในกายตน ยินดีในเทวดานั้นๆ ที่มากด้วยคุณธรรม
5. พุทธิจริต หมายถึง ผู้ที่มีความซ้ำซากจำเจ ต่อความขยันหมั่นเพียร เรียนรู้ สนใจจดจ่ออยู่กับการศึกษาค้นคว้า ไตร่ตรอง พิสูจน์ พิจารณาถี่ถ้วน ละเอียดรอบ-คอบ มีระเบียบวินัย และปัญญาดี ไม่เป็นคนที่เชื่อถืออะไรง่ายๆ ถ้าจะเชื่อก็ต้องพิสูจน์ จนเห็นผลแล้วจึงเชื่อ เป็นผู้มีเหตุผล อดทน กล้าที่จะเผชิญต่อปัญหานานานัปการ และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างหมดจด รอบคอบ รู้จักหยิบและยึดถือในเวลา และสถานการณ์ที่ควรหยิบถือ รู้จักปล่อยวาง ในเวลาและสถานการณ์ที่ควรปล่อยวาง เป็นผู้ฉลาดในวิถีงาน วิถีชีวิต วิถีคิด วิถีจิต เป็นหนึ่งเดียวกับวิถีพุทธ รู้ ตื่น และเบิกบาน
วิธี แก้ไข ไม่มี เพราะมิได้เป็นผู้ก่อปัญหา ไม่สร้างมลภาวะ ทั้งยังมีชีวิตเพื่อยังประโยชน์ แก่ตนและสังคม แต่ก็มิใช่หมายความว่า จักเป็นผู้ดีเลิศจนถึงที่สุดทุกข์ เหตุเพราะยังมิได้ญาณ ปัญญาหยั่งรู้สามัญลักษณะ 3 ประการ คือ อนิจจา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ไม่มีตัวตน ด้วยปัญญาหยั่งรู้ หยั่งเห็นโดยแยบคาย ทุกขณะของลมหายใจ จึงต้องเพียรพยายามฝึกหัด ดัดกายวาจาใจ ให้อยู่ในมัชฌิ-มาปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ไม่ข้องแวะที่สุด 2 อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค ทำตนให้พัวพันหลงไหลอยู่ในกามคุณ ด้วยคิดว่าเป็นวิถีพ้นทุกข์ อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากทรมารด้วยคิดว่าเป็นวิถีพ้นทุกข์ จะต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในองค์ 8 ประการ คือ
1. ปัญญาเห็นชอบ ได้แก่เห็นอริยสัจ 4
2. ดำริชอบ
3. เจรจาชอบ
4. การงานชอบ
5. เลี้ยงชีวิตชอบ
6. เพียรชอบ
7. ระลึกชอบ
8. ตั้งใจชอบ
เหล่า นี้เป็นมรรควิธีที่สบาย เจริญมั่นคงแก่ผู้มีพุทธิจริต อิริยาบถ ผู้ที่เป็นพุทธิจริตจะเหมาะสำหรับทุกอิริยาบถสี ผู้มีพุทธิจริต จักเหมาะสำหรับทุกสี
พุทธิจริต กัมมัฏฐานเป็นที่สบาย 4 อย่าง คือ
มรณานุสติ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ เราจักต้องตายเป็นแน่ ความตายเป็นสาธารณะ เป็นธรรมดาแก่สัตว์ทั้งหลาย เราหนีความตายไม่พ้น
อุปสมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระนิพพาน ที่สามารถระงับกิเลสและกองทุกข์ได้
อา หาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาถึงความปฏิกูลในอาหาร พิจารณาถึงความน่ารังเกียต โดยการบริโภค โดยที่เกิดของอาหาร โดยอาการของอาหาร โดยการสะสม คั่งค้างอยู่นานของอาหารนั้น
จตุธาตุกัมมัฏฐาน พิจารณาให้เห็นชัดด้วยสติปัญญา ว่ากายนี้จริงๆ แล้วประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ (รายละเอียดดูในธาตุกัมมัฏฐาน)
6. วิตกจริต ได้แก่ผู้มีอุปนิสัยจำเจซ้ำซาก ไปในความคิด สับสน ฟุ้งซ่าน จับจด เหม่อลอย ขาดสติ ขี้ลืมบ่อยๆ ทำพูดคิดมักจะผิดๆ พลาดๆ ไม่ค่อยรู้สึกตัว ความนึกคิดไม่ค่อยปะติดปะต่อ ไม่อยู่กับร่องกับรอย อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย ไม่มีความรับผิดชอบ ชีวิตจะหนักไปในอคติ 4 คือ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะไม่ชอบ ลำเอียงเพราะเขลา ลำเอียงเพราะกลัว เป็นผู้ที่นอนไม่ค่อยหลับ ถ้าหลับก็หลับไม่ค่อยสนิท จะฝันร้ายเป็นประจำ ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายของเสียในร่างกาย มักไม่ค่อยปกติ มีชีวิตที่ไม่ค่อยเป็นสุข
วิธีแก้ไข ต้องพยายามเลือกอยู่ในสังคมที่สุข สงบ อบอวล แวดล้อมไปด้วยกลิ่นไอของธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติได้ช่วยบำบัดเครื่องอุปโภคบริโภคทั้ง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต้องไม่วิจิตรพิสดาร มีรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย พอเหมาะแก่การใช้สอย กลิ่นต้องไม่รุนแรง รสอาหารไม่จัดนัก ฟังเสียงเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ต้องไม่เป็นเสียงที่ทำให้คิดมากนัก สัมผัสต่างๆ ต้องบางเบาสบาย ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีเฉพาะสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตตนเท่านั้น เพราะถ้าขืนมีเอาไว้มากๆ ก็จะทำให้คิดวิตกกังวลมากเรื่องอีก รวมความก็คือการแก้วิตกจริต ต้องแก้ด้วยค่าของความเป็นกลาง
อิริยาบถ ที่สบายของผู้มีวิตกจริต ต้องเป็นอิริยาบถเพื่อความผ่อนคลายเท่านั้น จะเป็น ยืน เดิน นั่ง นอนก็ได้ แต่ต้องไม่เกิดกังวลวิตก
สี ที่สบายแก่วิตกจริต คือ สีสะอาด เบาบาง ดูแล้วสบายตา เช่น สีน้ำทะเล สีตองอ่อน สีเขียวอ่อนๆ
วิตกจริต ให้เจริญภูตกสิณ 4 คือ กสิณดิน กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ และอรูปกัมมัฏฐาน 4 คือ
อากาสานัญจายตนะ พิจารณาว่าอาการอันหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์
วิญญานัญจายตนะ พิจารณาวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์
อากิญจัญญายตนะ พิจารณาความไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์
เนวสัญญานาสัญญายตนะ พิจารณาภาวะมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เป็นอารมณ์
กัมมัฏฐานเป็นที่สบายและเหมาะแก่จริตทั้งปวงได้แก่ อรูปกัมมัฏฐาน 4 (แต่ต้องเจริญกัมมัฏฐานกองอื่นมาก่อน)
จึงมาเจริญอรูปกัมมัฏฐาน เช่น รูปฌาน 4
อากาสานัญจายตนะ
วิญญานัญจายตนะ
อากิญจัญญายตนะ
เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ภูตกสิณ 4
กสิณดิน คือเครื่องจูงใจ ผูกใจเอาไว้ในอารมณ์เดียว คือดินที่เพ่ง
กสิณน้ำ คือเครื่องจูงใจ ผูกใจเอาไว้ในอารมณ์เดียว คือน้ำที่เพ่ง
กสิณลม คือเครื่องจูงใจ ผูกใจเอาไว้ในอารมณ์เดียว คือลมที่เพ่ง
กสิณไฟ คือเครื่องจูงใจ ผูกใจเอาไว้ในอารมณ์เดียว คือไฟที่เพ่ง
สรุป ว่า จริตทั้ง 6 นี้ เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในกายของตนทุกคน อยู่แต่ว่าใครจะมีจริตชนิดไหนมากกว่าเท่านั้น การที่เราจะรู้ว่าจริตชนิดไหนมีจำเจซ้ำซากในตัวเรา เราก็ต้องหันกลับมาดูตัวเอง ค้นหาตัวเอง ทำความรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง แจ่มแจ้งในตัวเอง แล้วเราก็จะบอกกับตัวเองได้ว่า ในตัวเรามีขี้กี่กอง มีทองกี่กอง ที่สำคัญเราต้องยอมรับว่าในตัวเรายังมีขยะที่ต้องกำจัดอยู่มาก รวมถึงจริตทั้ง 6 นี้ด้วย ผู้อื่นก็ไม่สามารถกำจัดขยะให้แก่เราได้นอกจากตนเอง
สำหรับวิธีเอาชนะ จริตทั้ง 6 ที่ผู้เขียนแสดงมานั้น อย่าถือว่าเป็นข้อยุติ ถูกต้องที่สุด ท่านอาจจะมีวิธีที่ดี และถูกต้องที่สุดกว่านี้ก็ได้ ถ้าท่านพยายามค้นหาทำด้วยตัวเอง ผู้เขียนเขียนจากความทรงจำ ที่ได้ศึกษาค้นคว้าจากคำสอนของพระศาสดา บวกกับประสบการณ์ทางวิญญาณของตัวเอง ซึ่งก็อาจจะไม่ตรงกับความรู้สึกของท่านผู้อ่านมากนัก แต่ก็ขอให้ทำใจเป็นกลางๆ ในขณะที่อ่านแล้วโปรดสังเกต ใคร่ครวญวิเคราะห์ดูให้ถี่ถ้วน ท่านคงจะได้อะไรดีๆ บ้างไม่มากก็น้อย

ตอนที่ 4 เตรียมตัวปฏิบัติธรรม
ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการของมหาสติปัฏฐานท่านต้องเตรียมการดังนี้
ตั้ง ความรู้สึกนึกคิด จิตวิญญาณ และชีวิตเอาไว้ว่ากิจกรรมต่อไปนี้ เป็นกิจกรรมที่เราจักทำมันพร้อม ทั้งกายและใจ อย่างชนิดผนึกแนบแน่น ซึมซับซึมสิง จดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะไม่ละความพยายามที่จะฝึกหัด ปฏิบัติ บำเพ็ญ ในการปลุกเร้า เฝ้ารักษามหาสติ ให้มีชีวิตพลิกฟื้น ตื่นขึ้นมา เพื่อจะทำหน้าที่ชี้บอกเรา ว่าสิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตและกายเรา เกิดจากกระ-บวนการสะสม พอกพูน หนุนนำ มาจากความไม่รู้จริง เป็น เหตุให้ทำถูก ทำผิด และการกระทำ ทั้งถูกผิดเหล่านี้แหละ เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตให้ดีชั่ว เลว หยาบ ฉลาด โง่ ด้วยอำนาจของความทะยานอยาก ดิ้นรนปรารถนา ยึดถือ ผูกพัน จนกลายเป็นกระบวนการสร้างภพ สร้างชาติ แล้วก็ต้องมาแก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของที่ตนยึดถือ ทำให้เกิดความร่ำไร รำพัน เศร้าโศก เสียใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นทุกข์เดือดร้อน ก็ต้องขวนขวาย ดิ้นรนพ้นทุกข์ ถ้าเป็นคนโง่ รู้ไม่จริง ก็อาจหาทางในวิธีที่ผิด ซึ่งก็ผิดกันมาตลอด จนเป็นเหตุให้ทำกรรมทั้งถูกและผิด
ด้วยเหตุนี้ เราทั้งหลาย จึงต้องค้นหาวิธีพ้นทุกข์ ที่ถูกต้องที่สุดด้วยตัวเราเองตามแนวทางที่พระบรมศาสดา พระพุทธะ ผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงมีพระเมต-ตาวางหลักการเอาไว้ ส่วนจะถูกจะผิด ได้ผลดีหรือไม่ดีอย่างไร นั่นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเราทั้งหลายแล้วล่ะว่า เราทำจริงไหม มีความเพียรพยายามปฏิบัติ ด้วยอาการกิริยาที่จริงจัง จับจ้อง ตั้งใจแค่ไหน ได้รับผลของการกระทำด้วยวิธีที่ถูกต้อง ตามหลักแนวทางที่พระพุทธะทรงวางไว้ ได้จริงหรือเปล่า ท่านปฏิบัติตรงต่อหลัก-การนั้นด้วยความละเอียด รอบคอบ ชาญฉลาดมากน้อยแค่ไหน อย่างไร แล้วท่านได้เข้าใจหลักการ พื้นฐานที่เกิดสภาวธรรม สภาวะทุกข์ แล้วหรือไม่ว่า ความทุกข์เดือดร้อนทั้งหลาย เกิดขึ้นได้เพราะความไม่รู้เป็นเหตุ ถ้าจะดับทุกข์ ก็ต้องดับที่เหตุ คือความไม่รู้ ทำให้ความรู้จริง รู้แจ้ง รู้ชัดว่า การที่จะพ้นทุกข์ได้นั้น ไม่มีใครช่วยได้ นอกจากตัวเอง เราเอง เราต้องเพียรพยายาม ทำทุกวิถีด้วยความรู้จริง รู้ชัด เพื่อจะปลดปล่อยชีวิต จิตวิญญาณ ให้พ้นจากเครื่องพันธนาการร้อยรัดทั้งปวง
การได้มีโอกาสศึกษา พระธรรมคำสอนของพระศาสดา ทำให้เราได้รู้ว่าพระ-พุทธองค์ทรงเน้นย้ำอย่างหนักแน่น จริงจังว่า
อานนท์ เธอจงเป็นที่พึ่งพิงอิงอาศัยของตนเถิด จงอย่ายึดถือที่พึ่งภายนอก จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ายึดถือ พึ่งอาศัย อย่างอื่น สิ่งอื่น ชีวิตอื่น แล้วพระองค์ก็ทรงสอนต่อไปว่า
ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสติเฝ้าดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม มีความเพียรเพ่งอยู่ ย่อมกำจัดความทุกข์เดือดร้อน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเสียได้ ย่อมพ้นแล้วในเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ย่อมบรรลุถึงนิพ-พาน
เมื่อเรา เข้าใจ ถึงหลักการพื้นฐาน ของการปฏิบัติธรรมว่าสภาวะธรรมทั้ง-หลาย ความพ้นทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยตัวเองเป็นปัจจัยสำคัญ ทีนี้เรามาก้าวสู่กระบวนการของมหาสติปัฏฐานกันเถิด
วิธีเข้าสู่กระบวน การมหาสติปัฏฐาน เพื่อให้แน่ใจและมั่นใจว่า เราจริงจังต่อการเข้าสู่กระบวนการนี้อย่างจริงใจ มิใช่จำใจ ก็ต้องเริ่มที่ทำกาย วาจา ใจ ให้อ่อนน้อม พร้อมรับฟังคำแนะนำ สั่งสอน ด้วยการกล่าวคำว่า
เยเนวะ ยันติ นิพพานัง พุทธา จะ เตสัญจะ สาวะกา เอกายะเนนะ มัคเคนะ สะติปัฏฐานะสัญญินา
พระ พุทธเจ้าทั้งหลาย พระสาวกทั้งหลาย ของพระ-พุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ย่อมถึงซึ่งพระนิพพาน ด้วยข้อปฏิบัติใด ข้อปฏิบัตินั้น รู้กันอยู่แล้วว่า ได้แก่สติ ปัฏฐานทั้ง 4 ซึ่งเป็นหนทางอันเอกของบุคคลผู้เดียวดังนี้
อิมายะ ธัมมานุธัมมะปะฏิปัตติยา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ปูเชมิ
ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมดังนี้
เดชะ พุทธา นุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม
ด้วยเดชะอานุภาพ แห่งพระพุทธเจ้า ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า (กราบ)
เดชะ ธัมมา นุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม
ด้วยเดชะอานุภาพ แห่งพระธรรม ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า (กราบ)
เดชะ สังฆา นุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม
ด้วยเดชะอานุภาพ แห่งพระสงฆ์ ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า (กราบ)
ครั้น แสดงตนให้เป็นที่ประจักษ์ว่า พร้อมที่จะน้อมรับคำสั่งสอนมาปฏิบัติ ก็เริ่มจัดการกับอิริยาบถของตนเอง ให้ตั้งอูยู่ในกิริยาอาการที่ถูกใจ ผ่อนคลาย เบาสบายที่สุด ไม่มีข้อบังคับใดๆ ว่าต้องอยู่ในอิริยาบถนั้น อิริยาบถนี้ ทำตามที่ท่านรู้สึกว่า ตั้งมั่นอยู่ได้นาน ปราศจากความกังวล หวาดระแวงใดๆ เมื่อจัดระเบียบให้กับกายได้แล้วก็มาดูระบบของใจและความคิด ผู้ปฏิบัติธรรมต้องตระหนักสำนึกถึงความทุกข์เดือดร้อนทั้งหลายที่มีอยู่ใน ชีวิต แล้วต้องคิดให้ได้ว่าวิธีนี้เท่านั้นที่จะพ้นทุกข์ได้ ฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะมีงานมากสักเท่าใดมียศและภาระยิ่งใหญ่ ขนาดไหน มีห่วงใยอะไรๆ สักปานใด ท่านต้องวางให้หมด สลัดให้หลุด อย่าปล่อยให้อะไรมาฉุดท่านอยู่ มีแต่ตัวเองแท้ๆ ล้วนๆ ว่างๆ แล้วเริ่มทดลองปฏิบัติ
โดยการสูดลมหายใจ เข้าไปสู่ร่างกายให้ยาว ลึก เต็มที่ แล้วผ่อนลมนั้นออกมายาวๆ หมดจด เอาความ รู้สึกนึกคิดทั้งปวง จับอยู่ที่รูจมูกทั้งสองข้าง เมื่อลมเข้ามากระทบช่องจมูก ก็ส่งความรู้สึกนึกคิดนั้น ตามลมเข้าผ่านลำคอ หน้าอก ช่องท้อง กระดูกสันหลังข้อที่ตรงกับสะดือ ไหลย้อนขึ้นมาที่กลางหลัง ต้นคอจอมปราสาทหรือกลางกระหม่อม และออกจมูก ทำอยู่เช่นนี้สัก 5-10 ครั้ง เป็นการอุ่นเครื่อง เรียกสติของคนให้ตื่นขึ้นมาจากการหลับใหล พร้อมกับทำให้เกิดความเข้าใจรู้จักต่อกระบวนการ ของลมหายใจเข้าและออก ด้วยการสังเกตดูว่า การหายใจดัง-กล่าวมานี้ ท่านรู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก มึนตึง ปวดศีรษะหรือเปล่า เหนื่อยไหม ถ้ายังไม่สามารถสัเกตดูอาการ ที่ปรากฏในกายตนได้ ซึ่งอาจจะเร็วเกินไป ที่จะรู้ผล ก็ให้ทดลองหายใจดูใหม่ ด้วยวิธีเดิม
ให้สูดลมหายใจเข้าไปให้ยาว ลึก เต็มที่ กักเก็บลมหายใจ หรือกลั้นลมหายใจเอาไว้สักครู่ (สุดแต่ความสามารถของแต่ละท่านให้ทุกท่านสังเกตหาความพอดีแบบสบายๆ แก่ตัวเอง) แล้วค่อยๆ ผ่อนลมออกทางจมูกหรือปากก็ได้ (ถ้าไม่สะดวก ที่จะหายใจทางจมูก) ทำเช่นนี้ไปสัก 10-20 ครั้ง เอาความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงจับอยู่ภายในกาย เพื่อจะเฝ้าระวังสังเกตอาการที่เกิดขึ้น ว่ามีอะไรผิดปกติบ้างหรือไม่ ถ้าเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น อึดอัด แน่นหน้าอก เหนื่อย มึนตึง ปวดศีรษะ ให้แก้ไขด้วยวิธี
ค่อยๆ หายใจเข้า (ปิดปากให้สนิท) ให้พอดีกับความต้องการของตน แล้วใช้เวลาในการกักเก็บลมหายใจ ช่วงขณะแค่กลืนน้ำลายหนึ่งครั้ง จึงค่อยผ่อนลมหายใจออก จะทางปากหรือจมูกก็ได้ ด้วยความ รู้สึกผ่อนคลาย ระบายของเสียออกมาพร้อมกับลมหายใจ ทำอยู่สัก 10-20 ครั้งให้ความรู้สึกนึกคิดทั้งมวลรวมอยู่ภายในกาย พร้อมกับสังเกตว่า มีอาการใดๆ เกิดขึ้นภายในกายเรา (มีข้อน่าสังเกตว่า อย่าทำด้วยความอยากตั้งใจมากเกินไป จนกลายเป็นความเครียด เพราะถ้าเครียดจะไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติ) ถ้าไม่มีปัญหาใดๆ ยังรู้สึกผ่อนคลาย หมดจด สบายๆ รู้สึกตัวตลอด ไม่ปรากฏอารมณ์ใดๆ มีแต่ความสงบ ตั้งมั่น นั่นแสดงว่า วิธีนี้ใช้ได้ เป็นที่สบายของเรา (การหายใจด้วยวิธีนี้ จะทำให้มีสติ สมาธอตั้งมั่นได้ง่าย) ทำต่อไป ทำจนกระทั่งชีวิต ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย รวมอยู่ภายในกายเรา (เรียกว่า จิตรวมกาย) เราจักรอบรู้ทุกอย่างที่มีในกายนี้ เรารู้จักการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน ของสิ่งต่างๆ ภายในกายเรา เราจะรู้เท่าทัน จนมีอำนาจควบคุมมันได้ สมรรถภาพภายในกายนี้ จะอยู่ในการดูแลควบคุมของเรา จะไม่มีแขกแปลกหน้าใดๆ เข้ามามีอำนาจครอบงำกายนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความปรุงแต่งที่เกิดจากตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ทุกอย่างจะอยู่ในการควบคุมบังคับบัญชาของเรา เราจักรู้จักเลือกว่า สิ่งที่มีอยู่เก่า และเข้ามาใหม่ อะไรเป็นทอง อะไรเป็นขยะ เราจะมีชัยต่อการทำลายขยะเก่า ไม่เพิ่มเติมสะสมขยะใหม่ เพียรพยายามรักษาของดีที่มีอยู่แล้วให้ผ่องใส
แต่ถ้าการกำหนดรู้ลม หายใจ วิธีที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล คือยังไม่สามารถทำให้สติตั้งมั่น สมาธิคงอยู่ได้ ยังมีความรู้สึก เหนื่อย อึดอัด แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นวิธีรู้ลมหายใจ ทั้งเข้าและออกอย่างปกติ เป็นธรรมชาติของมัน โดยมิต้องบังคับ ลมกระทบจมูก ก็ให้เฝ้าดู เมื่อหายใจเข้า ก็ให้รู้ว่าลมเข้ากระทบรู-จมูก ให้ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงเฝ้าดูอยู่ หายใจออกก็ให้รู้อยู่ว่าหายใจออก ลมกระ-ทบจมูก รู้ว่านี้เป็นกิจหน้าที่ของลมออก รู้ในอาการของลมเข้าที่ต้องกระทบ รู้ในกิจหน้าที่ของลมออก รู้ในอาการของลมออกต้องกระทบรูจมูก ส่วนจะหายใจหนัก เบา ยาว สั้น ปล่อย เป็นไปตามธรรมชาติ หน้าที่ของเรา เฝ้าดูแลรู้เท่านั้น ในขณะที่ดูรู้อยู่ ต้องไม่ปรากฏอารมณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ทำจนสติตั้งมั่น สมาธิคงที่ ลมหายจะละเอียดแผ่วเบา ไหลลื่น ราบเรียบยิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติ จะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า การหายใจของตนไม่ติดขัด ไม่หนักหน่วง ไม่อึดอัด ตรงกันข้าม ลมหายใจจะไหลลื่นอย่างสม่ำเสมอ บางเบา ละเอียดลง จนรู้สึกได้ เหมือนกับไม่ได้หายใจ ในเวลาเดียวกัน ก็จะบังเกิดนิมิต เหมือนแสงสว่างวิ่งผ่านหน้าตาคล้ายดาวตกหรือไม่บางคนก็อาจจะเห็นนิมิตที่ เป็นแสงสว่าง เจิดจ้า สบายตา ไม่ระคายเคือง ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ให้ความสนใจ ต่อนิมิตที่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ เฝ้าดูกิจของลม และอาการที่มากระทบรูจมูกของลมหายใจ ทั้งเข้าและออก จนกว่าจะรู้สึกว่า...การเฝ้าดูรออยู่ ตั้งมั่น คงที่ มิได้สับส่าย สั่นคลอน ก็ลองเปลี่ยนอิริยาบถของการเฝ้าดู เช่น นั่งอยู่ก็ให้ยืน ยืนอยู่ก็ให้เดิน เดินอยู่ก็ให้นอน นอนอยู่ก็ให้นั่ง ทำเช่นนี้จนแน่ใจว่า การเฝ้าดูลมหายใจของเรา มีได้ทุกอิริยาบถ โดยไม่เผลอไม่ตกหล่น รักษากระบวน การเฝ้าดูรู้อยู่ พร้อมทั้งการหายใจที่ละเอียดอ่อน บางเบา ราบเรียบ ไหลลื่น ไม่ติดขัด กระฉอก
ถ้าจะฝึกให้ถึงขั้นบรรลุฌาณ ก็ต้องคงสภาพของการเฝ้าดูรู้ลมหายใจขั้นต่อไป จากลมหายใจที่ละเอียดอ่อน แผ่วเบา ก็จะกลายเป็นความละเอียดอ่อนของจิต ทำจนกระทั่งพัฒนาจิตให้ละเอียดเป็นขั้น เป็นขั้น จนถึงฌาณที่ 4
อาการ ของฌาณแต่ละขั้น จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ ก็เพราะ...ต้องการให้ผู้ปฏิบัติสัมผัสลักษณะอาการขององค์ฌาณด้วยปัญญาของตน เอง มุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติรู้จริงจากสิ่งที่ท่านทำได้ มิใช่รู้จำ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า สมาธิธรรมดาๆ ก็ทำให้ผู้เป็นเจ้าของเอาตัวรอดในการดำรงชีวิตได้ นับประสาอะไรกับองค์ฌาณแต่ละขั้น ถ้าปฏิบัติได้ผลจริงๆ จะไม่รู้จักอาการของฌาณแต่ละขั้นเชียวหรือ ส่วนถ้าท่านใดสนใจที่จะจำจริงๆ ก็ขอให้ค้นหา ดูจากตำราวิสุทธิมรรคได้ ส่วนจักทำในสิ่งที่จำมาได้ทุกขั้นตอน หรือไม่อย่างไร สุดแต่ความสามารถของแต่ละท่าน แต่สำหรับผู้ที่ไม่คิดจะเอาแต่จำ ลงมือทำให้เห็นผลเลย ด้วยความรักความเพียรพยายามอย่างยิ่ง คงจะประจักษ์แจ้งชัดต่อผลของการพัฒนาให้ได้สมาบัติสูงสุดในที่สุด
แต่ ในที่นี้ขอกล่าวถึง การปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นโดยไม่เนิ่นช้า จึงขอย่อมากล่าวถึงลมที่ละเอียด บางเบา จนเกิดเป็นนิมิต แสงสว่าง ไม่ว่านิมิตจะวิ่งผ่าน หรือเป็นแสงปรากฏคงที่ แม้จะไม่เห็นนิมิตใดๆ เป็นความว่าง โปร่ง เบาสบาย ก็ให้ใช้สมาธินั้นหันมาพิจารณาสภาพเป็นจริงของกายนี้ อันประกอบไปด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร เยื่อในสมอง เหล่านี้เรียกว่าอาการหรืออวัยวะกายนี้จะตั้งอยู่ได้ เพราะอาศัยการประชุมพร้อมกัน ของอวัยวะหรืออาการดังกล่าว
นอกจากกาย นี้ ประกอบด้วยอวัยวะทั้งหลายแล้ว อวัยวะเหล่านี้ก็หาได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ คงที่ไม่ อวัยวะเหล่านี้ ยังต้องอาศัยเครื่องหล่อเลี้ยงเพื่อการเจริญเติบโต เครื่องหล่อเลี้ยงเหล่านี้ ก็คือลมหายใจเข้า ที่ถือว่าเป็นอาหารและเครื่องปรุงอาหาร ลมาหายใจออกเพื่อการระบายของเสีย นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยอาหารที่เป็นก้อนเป็นคำ และน้ำ เข้าไปหล่อเลี้ยงบำรุง ให้อวัยวะของกายนี้เจริญเติบโต ทั้งยังต้องระวังรักษา ระวัง ดูแล ให้อวัยวะของกายนี้มีสัมพันธภาพต่อกัน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ ผสมผสาน สอดคล้อง ไม่ให้บกพร่อง เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้อย่างเป็นปกติ ถ้าอวัยวะใดบกพร่อง ไม่ถูกต้องในหน้าที่ ถือว่ากายนี้เกิดโรค ต้องทำการบำรุงรักษา กระตุ้นให้อวัยวะนั้น ทำงานให้แก่กายนี้ต่อไป อย่าให้ขาดตอน เหล่านี้เป็นภาระอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการจัดการบริหารไม่รู้จบ เป็นปัญ-หาที่ต้องได้รับการแก้ไข อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด พิจารณาให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องทำ ตั้งแต่เกิด ยันตาย ทั้งที่ไม่มีส่วนไหนเป็นของกายนี้อย่างแท้จริงเลย พิจารณาให้เห็นถึงความไม่มีตัวตนของกายนี้จริงๆ กายนี้เป็นแต่เพียงองค์ประกอบของ อวัยวะต่างๆ ประชุมรวมกัน พิจารณาให้เห็นถึงความหลงยึดถือ ผูกพันในความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จนเป็นเหตุให้ทำกรรม เป็นเหตุแก่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์เดือดร้อน พิจารณาให้เห็นถึงความเข้าใจผิด หลงผิด ด้วยความไมรู้จริงตามสภาวะธรรมชาติ ของกายนี้ พิจารณาให้เห็นถึงความไม่สวยงาม ไม่น่าจับต้อง ไม่น่าปกครองเป็นเจ้าของ พิจารณาถึงความสกปรก ปฏิกูล พึงรังเกียจ พิจารณาถึงความปฏิกูล น่ารังเกียจในกายตนเช่นนี้ ย่อมมีอยู่ในกายผู้อื่น สัตว์อื่น เช่นเดียวกัน
หรือจะพิจารณาว่าอวัยวะทั้งหลายที่ประกอบเป็นกายเรา มีที่สุดเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ส่วนที่เป็นดิน เป็นสิ่งที่หยาบกระด้าง แข็ง จับต้องได้ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก เป็นต้น
ส่วน ที่เป็นน้ำ คือของเหลวที่ไหลซึมซาบ เอิบอาบ หล่อลื่น หล่อเลี้ยงไปทั่ว นอกกายในกาย เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำดี น้ำลาย น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมูก น้ำมูตร น้ำมันเหลว น้ำเสลด
ส่วนที่เป็นไฟ ได้แก่ไฟที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ไฟที่ทำให้ร่างกายแห้งเหี่ยว เฉา ทรุดโทรม แก่เร็ว ไฟที่เผาผลาญร่างกายให้กระวนกระวาย เร่าร้อน ไฟที่ทำลายกายนี้ให้แตกสลาย'
ส่วนที่เป็นลม ได้แก่ ลักษณะการประคับประคองกระบวนการเคลื่อนไหว กาย วาจา และทำให้กายนี้ตั้งมั่นอยู่ได้ เช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
พิจารณา ให้เห็นจริงว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอยู่ทั่วไปในอวัยวะทั้งหลาย ภายในกายและนอกกาย พิจารณาให้เห็นว่า แม้หัวใจที่จัดเป็นอวัยวะสำคัญของร่าง-กาย ก็หาได้มีแต่ธาตุดินอย่างเดียวไม่ หัวใจนี้ยังประกอบไปด้วยน้ำ คือความชุ่ม-ชื้น เอิบอาบ ซึมซาบ ยังประกอบไปด้วยลม คือการสั่นไหวตัวแต่ละอณูของเนื้อหัวใจ ก็ปรากฏฟองอากาศอยู่ภายใน (จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความหนาแน่นแห่งอณูของอวัยวะนั้นๆ) พิจารณาให้เห็นจริงว่า ในกระบวน การไหลเวียนของน้ำในหัวใจ บวกกับกระบวนการไหวตัวของธาตุลม ทำให้เกิดกระแสแห่งความอบอุ่น ความร้อน ธาตุไฟอยู่ในหัวใจดวงนี้
แม้อวัยวะอื่นในกายนี้ ก็ปรากฏธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นนี้ ยังจะหลงลืม นิยม ยอมรับ ยึดถือ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ได้กระนั้นหรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มิได้มีแต่เฉพาะกายเราเท่านั้น แม้ในสรรพสิ่งทั้งหลาย สรรพชีวิตทั้งหลาย สรรพวัตถุทั้งหลาย ก็มีกระบวนการอันประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 เสมอกัน หามีข้อยกเว้นในสิ่งใดไม่ นอกจากพิจารณาให้เห็นสภาวะธรรม ธาตุที่แท้จริงของกายนี้ แล้วก็ให้พิจารณาไปถึงอิริยาบถของกายนี้ว่า
อิริยาบถของผู้ศึกษา อิริยาบถของผู้ควรแก่เรียน ถือได้ว่าเป็นอิริยาบถของผู้มีปัญญา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ขี้ เยี่ยว ตด กิริยาทั้งหมด จะต้องเป็นอิริยาบถที่ผ่านการกลั่นกรองใคร่ครวญพินิจพิจารณา ตรวจตราอย่างละเอียดรอบคอบแล้วว่า เป็นอิริยาบถ เพื่อยังให้เกิดกุศลกรรม กรรมที่ทำด้วยความชาญฉลาด สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิริยาบถที่ควบคุมได้ เป็นนายมันถูก เป็นอิริยาบถเพื่อความปลดปล่อย เป็นอิริยาบถเพื่อความพ้นแต่ถ่ายเดียว
ทุกอิริยาบถ ของกายนี้จะสะอาดได้ ก็ด้วยอาศัยความรู้จริง รู้ชัด โดยมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องระวังรักษา ความรู้จริง รู้ชัด ให้ตั้งมั่น คงอยู่ เจริญขึ้น ทุกขณะของการมีลมหายใจเข้าออก เราต้องบอกกับตัวเองได้ว่า ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว โง่หรือฉลาด เป็นอิริยาบถที่ครอบงำหรือปลดปล่อยพร้อมกับบอกตนเองว่า กายนี้มีความเสื่อม คร่ำคร่า เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ อวัยวะทั้งหลายของกายนี้มีความคร่ำคร่า เสื่อมโทรม เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ กายนี้ตั้งอยู่ได้เพราะอิงอาศัยเหตุปัจจัยอันพร้อมมูล ถ้าขาดเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง กายนี้ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ กายนี้ต้องการเครื่องหล่อเลี้ยง ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง กายนี้ก็ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้
กายนี้ประกอบด้วยธาตุหมู่ใหญ่ทั้ง 4 ถ้าขาดธาตุหนึ่งธาตุใด กายนี้ก็ตั้งมั่นอยู่มิได้ ธาตุทั้ง 4 ภายในกายนี้ ทำกิจร่วมกันอย่างอิงอาศัย ผสมผสาน สอดคล้อง ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ถ้าธาตุหนึ่งธาตุใดบกพร่อง กายนี้จักตั้งอยู่ไม่ได้ ในธาตุทั้ง 4 ภายในกายนี้ ธาตุลมเป็นใหญ่ หากขาดธาตุลมหายใจ ไฟที่ต้องอาศัยลมให้ช่วยกระพือปลุกลุกขึ้นมาทำกิจ ก็จะดับสนิท ขาดความอบอุ่นภายในกาย เมื่อลมหาย ไฟดับ น้ำซึ่งมีอยู่มากภายในร่างกาย เมื่อขาดการเผาผลาญให้ระเหยกลายเป็นเหงื่อ ขาดไฟควบคุมให้ขับถ่าย น้ำขาดการควบคุมรักษาให้สมดุล ก็จักทำการ ละลายดิน เราจะสังเกตเห็นว่า คนหรือสัตว์ที่ตายไม่มีลมหายใจ ร่างกายเขาจะอืด เอิบอาบ จนผิวหนังที่ถือว่าเป็นธาตุดิน ก็จะโดนทำลายจนปริแตก แยกจากกัน ทำให้น้ำภายในกายนั้นๆ ไหลเยิ้มออกมา ส่งกลิ่นเหม็น เพราะเป็นของเสียภายในกาย เมื่อน้ำภายในกายไหลออกจนหมด กายนี้ก็จะเหือดแห้ง ผุกร่อน แตกทำลายไปทีละน้อย กลายสภาพเป็นดินในที่สุด
เมื่อลมหาย ไฟดับ น้ำระเหย คงไว้แต่ดิน ฝูงสัตว์ทั้งหลายที่มีสติปัญญาพอสมควรก็จะพากันรังเกียจ เบนหน้า เมินหนี ผู้มีปัญญาชั้นสูง จะพิจารณาย่อเข้ามาเปรียบกับตัวเอง แล้วเกิดธรรมสังเวช บรรเทาความหลงเสียได้ หมู่สัตว์ผู้ด้อยปัญญา ก็จักพากันมารุมกัดกินร่างนั้น ด้วยคิดว่าเป็นอาหารอันโอชะ ดินที่เป็นอวัยวะในส่วนที่อ่อนๆ ก็จะโดนกัดกินได้ง่าย เช่น หนัง เนื้อ พังผืด ปอด ม้าม หัวใจ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า อวัยวะเหล่านี้จักโดนสัตว์ผู้หลงมัวเมา ยื้อแย่งกัดกินเป็นที่น่าสะอิดสะเอียน (คงจะเป็นเช่นนี้ละกระ-มัง ผู้คนในยุคหลังๆ ถึงได้คิดหาวิธีปกปิดความสะอิดสะเอียนด้วยการฝังหรือเผาร่างของสัตว์ที่ตาย แล้ว)
เมื่อดินที่เป็นอวัยวะส่วนที่อ่อนๆ โดนฝูงสัตว์กัดกินไปจนหมดและเหลือไว้แต่อวัยวะส่วนที่แข็งเรียกว่ากระดูก เปื้อนด้วยและเลือดและน้ำเหลือง มีเส้นเอ็นน้อยใหญ่ ผูกรัด ให้กระดูกแต่ละท่อนติดกัน ถ้าปราศจากเอ็นน้อยใหญ่ผูกรัด กระดูกเหล่านั้น จักกระจัดกระจาย แยกออกเป็นส่วนๆ เช่น กะโหลก ศีรษะ กระดูกคาง กระดูกฟัน กระดูกคอ กระดูกไหล่ กระดูกแขน กระดูกหน้าอก กระ-ดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกก้นกบ กระดูกขา กระดูกแข้ง กระดูกเท้า กระ-ดูกแขน กระดูกมือ
กระดูก เหล่านี้ แม้จะมีสีขาวประดุจสีหอยสังข์ ทิ้งไว้เวลาผ่านไปจากสีขาวดุจหอยสังข์ ก็กลายเป็นสีเก่าคร่ำคร่า ผุกร่อน พังลงดินไปในที่สุด
พิจารณาให้เห็นสภาวะ ความตายอันจักพึงมีแก่เรา และสัตว์ทั้งหลาย กายนี้มีความเสื่อมและความตายเป็นธรรมดา ไม่มีสรรพชีวิตใด สรรพวัตถุไหน จะพ้นจากความเสื่อมและความตายไปได้ ความตายและความเสื่อมเป็นสาธารณะทั่วไปแก่สรรพสิ่งในจักรวาล
พิจารณา ให้เห็นด้วยสติ สมาธิ ปัญญาของตนจริงๆ ว่าสรรพวิญญาณ สรรพชีวิต สรรพวัตถุ สรรพธรรมชาติ ในกาย นอกกาย นี้ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงการประชุมพร้อมกันของเหตุปัจจัย เป็นแต่เพียงการประกอบกันของกระบวนการ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธรรมธาตุทั้ง 4 เท่านั้น แล้วก็มาสมมติบัญญัตินามเรียกขานว่า สิ่งนั้นชื่อนี้ สิ่งนี้ชื่อนั้น เพื่อการจำได้หมายรู้แล้วก็เผลอไผล หลงใหล ยึดติด ผูกพัน จนเข้าใจผิด คิดว่ามีตัวตนของสิ่งนั้นจริงๆ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทุกอย่างในโลกนี้แม้แต่กายเราเป็นสมมติ จงรู้จักใช้ สมมติ ยอมรับในสมมติ ให้เกียรติสมมติ ให้ประโยชน์ในสมมติ ได้ประโยชน์กับสมมติ ท้ายที่สุด อย่ายึดติดในสมมติ
เหตุเพราะสมมติ เหล่านี้ ตั้งอยู่ได้เพราะอาศัยกระบวนการและความสมดุลของดิน น้ำ ลม ไฟ เสื่อมได้ ตายไป ดับไป เพราะความคร่ำคร่า แก่-ชรา หมดอายุขัย ขาดสมดุลของดิน น้ำ ลม ไฟ
พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง จากการรู้จริงในสรรพสิ่ง ทั้งในและนอกกาย มีความปฏิกูล พึงรังเกียจ ความเป็นแต่ธาตุ ความเป็นภาระในการบริหาร การจัดการ เลี้ยงดู รักษา ความเป็นทุกข์ เดือดร้อน ความเป็นสมมติ ความไม่มีตัวตน นึกน้อมเข้ามาหาตนเอง ให้รู้ให้เห็นตามความเป็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนี้ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอยู่เนืองนิจ เป็นธรรมมดา จิตก็จักปล่อยวางจากความยึดถือผูกพัน ในกายตนและคนอื่น สัตว์อื่น วัตถุอื่น ความเบาสบาย โปร่ง โล่ง อิสระ เสรีภาพ จักเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แก่จิตตน สมกับพระพุทธพจน์ที่ว่า
ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักเน้อ
ภาระหาโร จะ ปุคคะโล บุคคลนั่นแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป
ภาราทานัง ทุกขัง โลเก การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลกเน้อ
ภาระนิกเข ปะนัง สุขัง การสลัดของหนักทิ้งลงเสีย เป็นความสุขจริงหนอ
นิกขิปิตวา คะรุง ภารัง พระอริยเจ้าสลัดทิ้งของหนักลงเสียแล้ว
อัญญัง ภารัง อะนาทิยะ ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก
สะมูลัง ตัณหัง อัพพุยหะ ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก
นิจฉาโต ปะรินิพพุโตติ เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ
มหาสติปัฏฐาน 4 ในพระไตรปิฏก กำหนดหลักการพิจารณากายในกาย เอาไว้ 6 ประการคือ
พิจารณา ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ภายในกายเรียกว่า อานาปานสติ
พิจารณา อิริยบถ คือ เดิน นั่ง นอน ยืดขา ยืดแขน ของกายนี้อย่างมีสติกำกับดูอยู่ เรียกว่า อิริยบถ
พิจารณา สัมปชัญญะ คือ ความรู้สึก ในขณะที่ ทำ พูด คิด กิน รับรส สัมผัส
พิจารณา สิ่งที่เป็นปฏิกูล พึงรังเกียจ ที่มีภายในกายและภายนอกกายนี้
พิจารณา ธาตุ ภายในกายนี้ ว่ากายนี้เป็นสักแต่ว่า ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้น
พิจารณา อสุภะ ความไม่งาม ที่มีในกายและนอกกายนี้
การพิจารณาคือการมีสติ เข้าไปกำกับดูแล อาการหรือสิ่งที่เกิดขึ้น ภายในและนอกกายอย่างละเอียด รอบคอบ ถูกต้องชัดเจน กระจ่างแจ้ง
มี คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้ในพระสุตตันปิฏกมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 หน้าที่ 284 บรรทัด 6-7-8 ท่านได้อธิบายไว้ว่า การพิจารณา มหาสติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิตธรรม มิใช่หมายถึงการพิจารณาเห็น หรือการแลเห็นร่วมกันเป็นก้อนเดียว หมวดเดียวเหมือนกับปุถุชนเห็น แต่ให้พิจารณากำกับดูทีละหมวด ทีละก้อน ซึ่งก็พ้องกับประสบ-การณ์ของผู้เขียนที่ได้ปฏิบัติมา
เหล่านี้จึงเป็น เหตุให้ ผู้เขียน ยกมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า พิจารณากายในกาย ขึ้นมาแสดงไว้ก่อน พอเป็นสังเขป เพื่อให้ผู้อ่านปฏิบัติตามขั้นตอนของ ศีล สติ สมาธิ ปัญญา ผู้เขียนก็เลยยังมิได้ยก มหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่าด้วย เวทนา จิต และธรรม มาแสดงไว้ในที่นี้ เพราะเกรงว่าจะเฝือและสับสน อีกทั้งเวลาที่เขียนก็มีจำกัดแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น ไว้ในโอกาสหน้าถ้ามีเวลา จักเขียนมาเล่าสู่กันฟังอีก สิ่งที่เขียนมานี้ ดังที่ทราบว่า มีข้อจำกัดของเวลา ประสบการณ์ ปัญญา ซึ่งอาจจะทำให้อธิบาย รวบรัด ย่นย่อ หรือเยิ่นเย้อ ยืดยาด ขาดสาระทางวิชาการ ก็ต้องขอประทานอภัย แก่ท่านผู้เจริญทั้งหลายมา ณ ที่นี้ด้วย คงเป็นเพราะผู้เขียนมีประสบการณ์ในการเขียนไม่มากนัก ความรู้ก็มิได้มีดีกรีอะไร มิอาจจะเทียบกับนักวิชาการทั้งหลายในแผ่นดินได้ ฉะนั้น ขอท่านผู้อ่านโปรดอย่านำเอาข้อเขียนนี้ ตีเสมอเป็นตำราหรือวิชาการใด ให้ทำความรู้สึกว่า กำลังอ่านประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมของคนคนหนึ่ง ที่เขียนมาเล่าสู่กันฟัง ต้องการภาพว่า ผู้เขียนเขียนเพราะได้รับการร้องขอจากคนใกล้ชิดเป็นจำนวนมาก บวกกับใจรักที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ของพระพุทธะผู้ประเสริฐให้ขจรขจายไปในทิศ ทั้งหลาย มิได้มีเจตนาอวดดี ตีเสมอ มิได้มีเจตนาจะบิดเบือนคำสอนของพระศาสดา เขียนด้วยใจใสซื่อ ไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทน หวังว่าท่านผู้อ่าน ผู้เจริญ คงมีใจกว้างพอ ที่จะอภัย และรับไว้พิจารณา
เพื่อให้ผู้อ่านได้มั่นใจ ว่าสิ่งที่ท่านกำลังศึกษาอยู่นี้มิได้ผิดเพี้ยนบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของพระ ศาสนา ผู้เขียนจะอันเชิญพระดำรัสของพระบรม-ศาสดาสัมมาสัมพุทธะผู้ประเสริฐ มาให้ท่านได้พิจารณาประกอบไปด้วย โดยพระองค์ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กัณฑ์ที่ 38 ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปอยู่ป่าก็ดี ไปอยู่โคนไม้ก็ดี ไปอยู่ที่ว่าง บ้านเรือนก็ดี แล้วนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรงดำรงสติไว้ให้ดี มีสติรู้อยู่ว่าหายใจออก มีสติรู้อยู่ว่าหายใจเข้าหายใจออก ยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ ย่อมศึกษา ฝึกหัดให้มีสติกำหนดรู้ชัดในกายทั้งปวง แล้วหายใจเข้า ย่อมศึกษาฝึก-หัดให้มีสติกำหนดรู้ชัดในกายทั้งปวง แล้วหายใจออก ย่อมศึกษาฝึกหัดให้มีสติกำหนดรู้ชัด ในการระงับเหตุแห่งการเกิดกายทั้งปวง แล้วหายใจออก อย่างนี้แลชื่อว่าภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นทั้งภายในและภายนอกกาย พิจารณาเห็นการเกิดและการดับ ทั้งภายในและภายนอกกาย มีสติตั้งมั่นรู้อยู่ว่ากายนี้ เป็นอยู่เพียงเพื่อการศึกษา ฝึกฝน ปัญญา ความรู้ และภิกษุ นั่นย่อมไม่อิงอะไร ไม่ถืออะไรในโลก อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังมีอีกข้อหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ พึงมีสติตั้งมั่นในอิริยาบถนั้นๆ ไม่ว่ากายของภิกษุนั้น ตั้งอยู่โดยอาการใดๆ เธอพึงรู้สึกถึงอาการแห่งกายนั้นๆ ดังนี้
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกระทำให้มาก กระทำ-ให้แจ้ง ในสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในขณะก้าวไปข้างหน้า ก้าวมาข้างหลัง มองไปข้างหน้า มองมาข้างหลัง งอแขน พับขา ยืดแขน ยืดขา นุ่งห่ม ใช้บริขาร ฉัน ดื่ม รับรส อุจจาระ ปัสสาวะ พูด นิ่งเฉย เหล่านี้ ภิกษุพึงทำความรู้ตัว ในทุกขณะของกิจกรรมแห่งกาย ด้วยความมีสัมปชัญญะ ความรู้ตัว อิริยาบถเหล่านี้เป็นอยู่เพียง เพื่อการฝึกฝนศึกษา สร้างปัญญาเห็นจริง รู้ชัด ภิกษุนั้นย่อมไม่อิงอะไร ไม่ติดอะไร ไม่ถืออะไรในโลก อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสติรู้ชัดภายในกาย พิจารณาดูกายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมาถึงปลายผม พิจารณาตั้งแต่ปลายผมลงไปถึงพื้นเท้า กายนี้มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบนอก ส่วนข้างในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ อยู่ในกายนี้คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ปอด ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูตร น้ำไขข้อ น้ำมูตร เหล่านี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายนี้เปรียบเหมือนถุงหนังมีปาก 2 ข้าง บรรจุเต็มไปด้วย ธัญชาติ และอาหารสด อาหารแห้ง ต่างๆ เช่น ข้าว-สาลี ข้าวเปลือก ถั่ว งา ข้าวสาร น้ำ ผสมคละเคล้าปนกัน ผู้มีสติในการมองจักพิจารณาเห็นความไม่สะอาด โสโครก ไม่งาม ไม่เป็นที่ปรารถนา เป็นอาการต่างๆ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ผู้มีสติตั้งมั่น พิจารณาอาการที่มีอยู่นอกและในกายด้วยปัญญาเห็นชัด ตามความเป็นจริง เธอทั้งหลาย ก็จักถอนเสียได้ ซึ่งตัณหา ความทะยานอยากละเสียได้ซึ่งอวิชชาความไม่รู้ ละเสียได้ซึ่งความหลงในการสร้างภาพ ภิกษุนั้นไม่อิงอะไร ไม่ถืออะไรในโลกนี้ (รายละเอียดในการพิจารณาปฏิกูลอย่างพิสดาร ท่านให้ดูในคัมภีร์วิสุทธิมรรค)
ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังมีอีกข้อ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีความเพียร มีสติตั้งมั่น พิจารณาด้วยปัญญา เห็นชัดตามความเป็นจริงว่า กายนี้ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ พิจารณาแยกธาตุภายในกาย อุปมาดังคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ฆ่าแล้วนั่งชำแหละเนื้อออกเป็นชิ้นๆ แยกวางไว้ ณ บนทางใหญ่ 4 แพร่ง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงพิจารณา ดูกายนี้ ทั้งภายในและภายนอก ที่ปรากฏอยู่ โดยความเป็นธาตุทั้ง 4
(ดูความละเอียดพิสดารในการพิจารณา ในคัมภีร์ วิสุทธิมรรค)
ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีความเพียรเพ่งอยู่ มีสติตั้งมั่น พิจารณากายนี้ โดยความเป็นซากศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า มีลักษณะอสุภะ 9 ประการ
อสุภ ที่ตายล่วงแล้ว วันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ขึ้นพองอืด มีสีเขียว มีหนอง เลือด และน้ำหนองไหล
อสุภ ที่มีหมู่สัตว์กัดกิน และกำลังกัดกิน
อสุภ ที่เหลือจากสัตว์กัดกินแล้ว ยังมีกระดูก เลือด เส้นเอ็นรัดรึง
อสุภ ที่ไม่มีเนื้อ มีแต่กระดูก กับเส้นเอ็นรัดรึงติดอยู่ เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง
อสุภ ที่ไม่มีทั้งเนื้อและเลือด เหลือแต่กระดูก กับเส้นเอ็นรัดรึงติดกันอยู่
อสุภ ที่ไม่มีทั้งเนื้อ เลือดและเส้นเอ็น รัดรึงติดอยู่เลย มีแต่ท่อนกระดูกกระจัดกระจาย
อสุภ ที่มีแต่กระดูกขาวเหมือนสีหอยสังข์
อสุภ ที่มีแต่กองกระดูกเหลืออยู่
อสุภ ที่มีแต่กระดูกเก่า ผุกร่อน เป็นผุยผง
เมื่อ ภิกษุ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ มีสติตั้งมั่น เห็นชัดตามความเป็นจริงว่าอสุภเหล่านี้หาใช่มีอยู่แต่ในกายผู้อื่นไม่ แม้กับกายเราก็เป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา ไม่พ้นไปได้ ภิกษุนั้นเฝ้าพิจารณาอสุภนั้นทั้งในกายตน และกายผู้อื่น ภิกษุนั้นตั้งสติกำหนดพิจารณาว่า กายนี้มีอยู่เพียงเพื่อศึกษา ฝึกฝน รักษา ศีล สติ สมาธิ ปัญญา (เป็นความเข้าใจของผู้เขียน) จักได้เป็นผู้ไม่ถืออะไรในโลก เป็นผู้ไม่ยึดติดอะไรในโลก
เมื่อท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย ศึกษาพิจารณามหาสติปัฏฐานข้อว่า พิจารณากายในกายครบตามกระบวนการทั้ง 6 แล้ว ปฏิบัติด้วยความหมั่นความเพียร พยายามมีสติตั้งมั่น จนเกิดปัญญารู้เท่าทันการเกิดดับของจิตทุกดวงได้แล้ว ท่านก็จะไม่ทำให้จิตที่เกิดใหม่ กลายเป็นมลภาวะ ด้วยการสร้างความปรุงแต่งให้แก่จิต เมื่อจิตที่เกิดขึ้นมาใหม่ปราศจากความปรุงแต่ง จิตดวงนั้นดับไป โดยไม่มีมลภาวะตกค้าง จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้น ก็จักไม่ได้รับมลภาวะของจิตดวงเก่าที่ดับไป พร้อมกระนั้นก็ไม่สร้างขยะมลภาวะใหม่ ให้แก่จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้น ปฏิบัติได้ดังนี้ จึงนับได้ว่า ท่านเป็นผู้เข้าถึงวิมุติ ความหลุดพ้น พ้นจากสภาวะความปรุง ผูก-พัน ยึดถือ และพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง พ้นจากความอยาก ที่สร้างเหตุของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย กระบวนการของจิตท่าน จักได้รับการปลดปล่อย ผ่อนคลาย เบาสบาย อิสระในที่สุด

ตอนที่ 5 ข้อคิดจากผู้เขียน
ลูกรัก สมาธิที่ดีไม่ควรจะมีเฉพาะตอนนั่งหลับตา มันควรจะอยู่
ในทุกอิริยาบถอย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นปกติธรรม
ลูกรัก เมื่อใดที่เจ้าหยุด
ความนิ่งก็เกิด ความสงบก็จักปรากฏ
ความตรึกตรอง เจ้าก็จักได้เป็นเจ้าของ
เมื่อตรอง จิตผ่อง ก็จักมี
ลูกรัก อารมณ์จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับกาย ไม่ใช่หนึ่งเดียวกับ
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมชาติ จักรวาล โลกพลังหรือ
ต่ออะไร อะไร แต่เป็นปฏิปักษ์ต่อกายตน...นั่นไม่ใช่วิถีคิดแห่งพุทธ-
ธรรมนี้แน่
ลูกรัก สมาธิ เป็นพลังของพฤติกรรม ความตั้งมั่น ความระลึก-
รู้ เป็นผู้ช่วยสนับสนุนพฤติกรรม ความใคร่ครวญไตร่ตรอง เป็นเครื่อง
รองรับพฤติกรรม ความมีคุณมีประโยชน์ เป็นสาระปราศจากโทษ เป็น
ประโยชน์ต่อจิตวิญญาณ

ตอนที่ 6 ข้อเสนอแนะ
ยามสาม ตื่นขึ้นบำเพ็ญเพียร
ยามสุดท้าย ออกแวะเวียนโปรดสัตว์
กลับมาสรงน้ำและทำวัตร
ปฏิบัติจัดการพัฒนากิจ
เสร็จสิ้นสนิทจิตกังขา
เล่าเรียนเขียนอ่านผ่านตำรา
บูชาธรรมมาในข้ากู
เร่งผนึกตรึกตนค้นให้พบ
จะได้จบเรื่องจริงสิ่งสงสัย
หากมิได้บำเพ็ญเป็นจัญไร
ก็ให้ตายในไพพนาภารตี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น