วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

เรื่องเมือง กายนคร


๑.บริเวณ เมือง กายนคร
เมืองกายนคร ( เมืองสังขาร ) นี้ มีเนื้อที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ

มีกำแพง ๔ ชั้น …ชั้นที่ ๑ ชื่อ กำแพงตโจ (กำแพงหนัง)     
………………… ชั้นที่ ๒ ชื่อ กำแพงมังสัง (กำแพงเนื้อ)
………………… ชั้นที่ ๓ ชื่อ กำแพงนะหารู (กำแพงเอ็น)
………………… ชั้นที่ ๔ ชื่อ กำแพงอัฐิ (กำแพงกระดูก)

มีป้อม ๔ ป้อม … ป้อมที่ ๑ ชื่อ ปราการเกศา (ปราการผม)
………………… ป้อมที่ ๒ ชื่อ ปราการโลมา (ปราการขน)
………………… ป้อมที่ ๓ ชื่อ ปราการนะขา (ปราการเล็บ)
………………… ป้อมที่ ๔ ชื่อ ปราการทันตา (ปราการฟัน)


มีประตูพระนคร ๙ ประตู

ประตูที่ ๑ ชื่อ มุขทวาร สำหรับนำอาหารเข้าไปบำรุงเลี้ยงภายในพระนคร
ประตูที่ ๒ ชื่อ อุจจารทวาร สำหรับนำอาหารที่เสีย ๆ ออก
ประตูที่ ๓ ชื่อ ปัสสาวทวาร สำหรับถ่ายน้ำเสียออก
ประตูที่ ๔ กับ ประตูที่ ๕ ชื่อ ฆานทวารซ้าย ฆานทวารขวา สำหรับสูดลมเข้า ออก และรับกลิ่นที่ดีและไม่ดี
ประตูที่ ๖ กับประตูที่ ๗ ชื่อ โสตทวารซ้าย โสตทวารขวา สำหรับคอยรับฟังข่าวสารต่าง ๆ จากภายนอกพระนคร
ประตูที่ ๘ กับประตูที่ ๙ ชื่อ จักษุทวารซ้าย จักษุทวารขวา สำหรับคอยสอดส่องดูแลเหตุการณ์ ทั้งปวง

มีปราสาทอยู่ ๕ หลัง

หลังที่ ๑ ชื่อว่าจักษุปราสาท มีนางสนมชื่อรูปา มีรูปร่างสวยงาม คอยบำเรอ ผู้มาพำนักในปราสาทหลังนี้

หลังที่ ๒ ชื่อว่า โสตปราสาท มีนางสนมชื่อ สัททา มีความสามารถด้าน คีตกวี คอยขับกล่อมประโคมดนตรี และถวายรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ให้ผู้มาพำนักได้รับรู้

หลังที่ ๓ ชื่อว่า ฆานปราสาท มีนางสนมชื่อ คันธา นางจะนำเครื่องสุคนธ์รสเข้าถวายผู้มาพำนักอยู่เสมอ

หลังที่ ๔ ชื่อว่า ชิวหาปราสาท มีนางสนมชื่อ รสา มีความสามารทางด้านปรุงอาหาร จะคอยนำอาหารคาว หวาน เข้าไปให้แก่ผู้ที่เข้ามาพำนัก มิได้ขาด

หลังที่ ๕ ชื่อว่า กายาปราสาท มีนางสนมชื่อ ผัสสา นางมีความสามารถ เอาอกอาใจให้แก่ผู้มาพำนักเก่ง นางจึงหมั่นปรนนิบัติให้ความอบอุ่น อยู่ตลอดเวลา
๒.ผู้ครองกายนคร

..........กษัตริย์จิตราชทรงเป็นผู้ครองกายนคร มีมเหสี ๒ พระองค์ องค์หนึ่งพระนามว่า พระนางอวิชชา เป็นพระมเหสีฝ่ายขวา อีกองค์พระนามว่า พระนางตัณหาเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย พระเจ้าจิตราชทรงลุ่มหลงในพระนางตัณหามาก ทรงให้เป็นผู้สำเร็จราชกิจ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นที่สุด

..........อีกทั้งมเหสีทั้งสองกราบทูลอะไร พระเจ้าจิตราชเป็นต้องทรงเห็นชอบกับพระนางทั้งสองทุกประการ

..........ในกายนครมีมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๔ คน คือ หลวงโลโภ หลวงโทโส หลวงโกโธ และหลวงโมโหหลวงโลโภกับหลวงโมโหทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์เข้าพระคลัง หลวงโทโสกับหลวงโกโธ ทำหน้าที่ ตีรันฟันแทง บุกรุกไม่คิดถอย

..........มีขุนคลัง ชื่อขุนมัจฉริยะ เป็นคนตระหนี่ถี่เหนี่ยวแน่นมาก ไม่ยอมจ่ายเงินทองให้แก่ใครง่าย ๆ มีขุนทหารประสานพระนครไว้ ๔ นาย คือขุนปฐพี ขุนอาโป ขุนเตโช และขุนวาโยมีเสนาประจำพระนครเข้าเฝ้า พระเจ้าจิตราช ทุกวัน 3 เหล่า คือ เหล่าเสนา อัญญสะมานา ๑ เหล่า เหล่าเสนา โสภณเจตะสิก หรือที่เรียกว่า อนุศาสก ๑ เหล่า และเหล่าเสนา อกุศลเจตสิก ๑ เหล่าซึ่งขึ้นตรงต่อ พระนางอวิชชากับพระนางตัณหานั่นเอง
หมายเหตุ 1
๒.๑ เหล่าเสนา อัญญสมานาเสนา มี ๑๓ นาย คือ
นายผัสสะ ตำแหน่ง หาเครื่องสัมผัส

นายเวทนา ตำแหน่ง หาอารมณ์ให้เสวย มีสุขทุกข์ อุเบกขา

นายสัญญา ตำแหน่ง กำหนดรู้อารมณ์

นายเจตนา ตำแหน่ง แสวงหาอารมณ์ตามความประสงค์

นายเอกัตคตา ตำแหน่ง ป้องกันการหวั่นไหวของอารมณ์

นายชีวิตินทรีย์ ตำแหน่ง คอยรักษาพยาบาลให้ดำรงอยู่

นายมนสิการ ตำแหน่ง ตรวจตรากิจด้วยความสุขุม

นายวิตก ตำแหน่ง ครองอารมณ์

นายวิจารณ์ ตำแหน่ง พิจารณาอารมณ์

นายอธิโมกข์ ตำแหน่ง ตัดสินอารมณ์

นายวิริยะ ตำแหน่ง สู้ตายไม่ถ้อถอย

นายปิติ ตำแหน่ง ให้ความปราบปลื้ม

นายฉันทะ ตำแหน่ง หาอารมณ์มาให้เกิดความพอใจ
หมายเหตุ 2
๒.๒ เหล่าเสนา อนุศาสกเสนามี ๒๕ นาย คือ

นายสัทธา – คอยชี้แจงให้เกิดความเชื่อถือถึงหลัก ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และเชื่อเหตุเชื่อผล

นายสติ – คอยตักเตือนมิให้หลงลืม และให้ระมัดระวังก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด

นายหิริ – คอยเหนี่ยวรั้งให้เกิดความละอาย ในสิ่งที่ชั่ว

นายโอตตัปปะ – คอยฉุดให้เกิดความเกรงกลัว ต่อผลของการทำชั่ว

นายอโลภะ – คอยสั่งสอนให้รู้ในคำว่าพอ

นายอโทสะ – คอยฉุดรั้งไม่ให้คิดอาฆาต พยาบาท

นายตัตรมัชฌตา – คอยเหนี่ยวรั้ง ให้วางเฉยในสังขาร

นายกายปัสสัทธิ – คอยชี้ให้เห็นความสุข ในการทำกายให้สงบ

นายจิตปัสสัทธิ – คอยยึดเหนี่ยว ไม่ให้เกิดความฟุ้งซ่าน

นายกายลหุตา – คอยปลดเปลื้องภาระที่ต้องแบกหาม

นายจิตลหุตา – คอยปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนให้หมดไป

นายกายมุทุตา – คอยเฝ้าสอนให้รู้ในระเบียบแบบแผนที่ดี

นายจิตมุทุตา – คอยตักเตือนไม่ให้ใจแข็งกระด้าง

นายกัมมัญญตา – คอยเพิ่มให้เกิดกำลังกายสามารถทำงานได้ทุกอย่าง

นายจิตตุกัมมัญญตา – คอยเพิ่มกำลังใจให้คิดอ่านทำกิจได้ทุกอย่าง

นายกายปาคุญญตา – คอยฝึกกายให้ว่องไวรวดเร็วไม่เฉื่อยชา

นายจิตปาคุญญตา – คอยฝึกให้คิดอะไรได้รวดเร็ว คล่องแคล่ว

นายกายุชุกตา – คอยฝึกกายให้ตรง คือไม่ให้ไปทำร้ายเขา ไม่ให้ไปลักทรัพย์เขา ไม่ให้ไปผิดลูกผิดเมียเขา

นายจิตตุชุกตา – คอยฝึกจิตให้เที่ยงตรง ดำรงอยู่ใน มัชฌิมาปฏิปทา

นายสัมมาวาจา – คอยฝึกคำพูดให้พูดแต่ความจริง ไม่พูดเท็จ ให้พูดสมานสามัคคี ไม่พูดส่อเสียด ให้พูดสุภาพ ไม่พูดคำหยาบ ให้พูดมีหลักมีผล ไม่พูดเพ้อเจ้อ

นายสัมมากัมมันตะ – คอยฝึกให้ประกอยการงานในที่ชอบ

นายสัมมาอาชีวะ – คอยฝึกให้หาเลี้ยงอาชีพในทางที่ชอบ เว้นมิจฉาชีพ

นายกรุณา – คอยทำจิตให้เกิดความเอ็นดูสงสาร ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความทุกข์

นายมุทิตา – คอยทำจิตให้พลอยยินดี ในเมื่อผู้อื่นได้ดี เว้นการริษยา

นายปัญญา – คอยฝึกให้เกิดความฉลาดรอบรู้ในกิจการทั้งปวง
หมายเหตุ 3

๒.๓ เหล่าเสนา อกุศลเจตสิกเสนา มี ๑๔ นาย คือ

นายโมหะ – คอยชักพาให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมา

นายอหิริกะ – คอยชักนำให้ทำชั่วโดยปราศจากความละอาย

นายอโนตตัปปะ – คอยชักนำให้กล้าทำชั่วโดยไม่กลัวต่อผลบาป

นายอุทธัจจะ – คอยชักพาให้เกิดความฟุ้งซ่าน จนขาดสติสัมปชัญญะ

นายโลภะ – คอยชักพาให้เกิดความดิ้นรนอยากได้ไม่รู้จักพอ

นายทิฐิ – คอยชักนำให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด

นายมานะ – คอยชักจิตให้เกิดความเย่อหยิ่ง ถือตัวว่าไม่มีใครเสมอเหมือน

นายโทสะ – คอยชักนำให้จิตคิดประทุษร้าย ขาดเมตตา กรุณา

นายอิสสา – คอยชักชวนให้คิดตัดรอนคนอื่น ในเมื่อเห็นคนอื่นจะได้ดีกว่า ไม่อยากให้ใครได้ดีกว่าตน

นายมัจฉริยะ – คอยชักนำให้ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่อยากให้อะไรแก่ใคร แต่อยากได้ของคนอื่น

นายกุกกุจจะ – คอยชักพาให้เกิดความรำคาญ หมดความสงบ

นายถีนะ – คอยชักพาให้เกิดความหดหู่ซบเซา ไม่อยากได้ใคร่ดี อะไรทั้งหมด

นายมิทธะ – คอยชักให้ง่วงเหงาหาวนอน ไม่อยากจะทำอะไร ดีชั่วไม่เข้าใจ

นายวิจิกิจฉา - คอยชักพาจิตให้ลังเลสงสัยตัดสินใจไม่ถูก
๓.ภายในเมืองกายนคร

.....ภายในเมืองกายนคร มีพวกข้าเฝ้า เหล่าบริพาร ทั้งไพร่และผู้ดี เป็นจำนวนตั้งพันตั้งหมื่น รูปร่างเล็กบ้างใหญ่บ้างอาศัยอยู่ มีชื่อเรียกว่า เหล่า กิมิชาติ หรือที่เรียกว่า พยาธิ เช่นพยาธิเส้นด้าย พยาธิใบไม้ พยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน เป็นต้น พวกนี้ไม่ค่อยจะซื่อตรงจงรักภักดีนัก มีแต่จะคอยทำลายบ้านเมืองให้พินาศ พระเจ้าจิตราชจะทรงคอยกำจัดให้ออกจากภายในเมือง ถ้ารู้ว่ามีพวกนี้อยู่ เพราะนอกจากจะทำลายบ้านเมืองแล้ว ยังคอยเป็นไส้ศึก ทำให้ข้าศึกเข้ามาโจมตีเมืองได้อีกด้วย … นอกจากนี้ ยังมีหลวงชาติ และขุนสมุทัยซึ่งเป็นพระญาติของพระมเหสีทั้ง ๒ คือ พระนางอวิชา และพระนางตัณหา ที่ยังคอยแทรกแซงกิจการภายในเมืองอีก โดย หลวงชาติจะคอยเป็นผู้สร้างเมือง โดยมีขุนสมุทัยคอยแต่งเมือง

.....ทั้งนี้ กายนครแห่งนี้มีฤดูกาล ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ๓ ฤดู คือ ฤดูสุข ฤดูทุกข์ และฤดูเป็นกลาง ( อุเบกขา )

...… พระเจ้าจิตราช ทรงประทับอยู่ในสามฤดูนั้น ตลอดกาล

...… นางอวิชชากับนางตัณหา ต่างพากันคอยยุยงส่งเสริมให้พระเจ้าจิตราช ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง คอยกีดกันพวกฝ่ายกุศลมิให้เข้าใกล้ คนไหนดี มีสติ ปัญญา มีศรัทธา ก็คอยค้อนติง ขับไล่ให้ไกลพระเจ้าจิตราชไป ส่วนพวกพ้อง ที่เป็นพาลสันดานหยาบ นางก็ทูลให้เพิ่มบำเหน็จรางวัลเป็นความดีความชอบแทน พระเจ้าจิตราชทรงลุ่มหลง หลงใหล ใฝ่ฝันนางทั้งสองยิ่งนัก...........
๔.เตือนภัย
...ฝ่ายหลวงสติ ซึ่งเป็นโหราธิบดีผู้ใหญ่ ได้พิจารณาเห็นว่า ในไม่ช้าจะเกิดเหตุใหญ่ในเมือง เพราะท้าวจิตราชทรงลุ่มหลงในนางอวิชชาและนางตัณหา มากเกินไป นางทั้งสองก็ยั่วยุให้มีแต่เรื่องเดือดร้อน หลวงสติ เห็นว่าถ้าปล่อยไว้เช่นนี้เรื่อยไป จะเกิดเป็นภัยแน่ จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าจิตราช กราบทูลว่า “เหตุร้ายจักเกิดแก่พระองค์ในไม่ช้า ขอให้พระองค์ทรงเตรียมการป้องกันพระนครไว้พระเจ้าค่า”

...ท้าวจิตราชได้สดับโหราธิบดีมาทูลเตือนดังนั้น ก็ทรงร้อนพระทัย จึงตรัสถาม “ท่านหลวงสติ แล้วเราจะเตรียมป้องกันทหารอย่างไรเล่า?”

...โหราธิบดี จึงกราบทูลแนะให้ท้าวจิตราช ทรงป้องกันว่า “ขอพระองค์ทรงจัด ทวารธรรมาวุธไว้ เลือกแต่ตั้งอยู่ในศีลในทาน มารักษาพระนคร ขอให้พระองค์สวดมนต์ภาวนาแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ อย่าหลงใหล ในพระนางอวิชชา และพระนางตัณหามากเกินไป จะทำให้เสียเมือง ......อนึ่ง พวกพ้องของนางตัณหา ก็ไม่ควรจะให้เข้าเฝ้าบ่อยนัก เพราะจะทูลให้พระองค์ทรงเดินทางผิดอยู่เสมอ พวกนี้จะพลอยดีแต่เวลายังไม่มีภัยมาถึง ครั้นมีภัยเข้า ก็จะพากันทิ้งขว้างพระองค์เป็นแม่นมั่น ไม่ยอมช่วยเหลืออะไรทั้งหมด จะปล่อยให้พระองค์ได้รับทุกข์ทรมานเพียงผู้เดียว เป็นแน่แท้”

....ท้าวจิตราช ได้สดับหลวงสติ โหราธิบดี กราบทูลเหตุการณ์ดังนั้น ทรงรู้สึกละอายและเกรงกลัว อันตราย ทรงรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้นเราจะคลายความลุ่มหลงในองค์มเหสีทั้งสองให้น้อยลง และรับที่จะปฏิบัติตามที่ท่านได้เตือนเรา ขอบใจมาก” แล้วพระเจ้าจิตราช ทรงมีพระดำรัสสั่งให้จัดตั้งเสนาธรรมาวุธ เพื่อป้องกันพระนครโดยกวดขัน
๕.เหตุร้ายเริ่มส่อเค้า

... ฝ่ายขุนทิฐิ ขุนมานะ ในเหล่าเสนา อกุศลเจตสิก ผู้มีความกล้า เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงเข้าเฝ้าเหนือหัวของตน และได้กราบทูลยุยงพระเจ้าจิตราช ว่า “ขอเดชะ พระองค์อย่าได้ทรงท้อถอย ไม่ต้องทรงเกรงกลัวอะไรทั้งหมด พระองค์จงทรงไว้ตัว ตามเยี่ยงกษัตริย์ (ขัตติยะมานะ) ไม่ควรที่พระองค์จะทรงยอมทำตามคำเพ็ดทูล ของใครง่าย ๆ จะเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติ พระองค์จะทรงกลัวอะไรกับข้าศึกเพียงหยิบมือ”

พระนางอวิชชาและพระนางตัณหากราบทูลเสริมว่า “พระทูลกระหม่อมแก้ว” นางอวิชชาเริ่มก่อน “พระองค์ทรงบุญญาธิการ จะหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ ทุกวันนี้ พระองค์เสวยแต่ความสุข จะประสงค์สิ่งใดก็ได้สมประสงค์ทุกประการ หากพระองค์ไม่มีความมั่นคง ทำเป็นหลักที่ปักโคลน จะทำให้ราษฎรครหาได้เพค่ะ” … “ทูลกระหม่อมแก้ว” นางตัณหาเริ่มบ้าง “ขอพระองค์อย่าทรงเชื่อถ้อยคำ ของเจ้าโหราธิบดี ปัญญาโฉด แกล้งกล่าวคำร้ายให้แก่พระองค์และพระนคร ข้าศึกที่ไหนจะมารุกรานเราได้ ขอพระองค์ให้ทรงเชื่อหม่อมฉันทั้งสองเถิดเพค่ะ”
ท้าวจิตราช ได้สดับวาจาเป็นเครื่องกล่าวของพระนางทั้งสอง ดังนั้น ก็ทรงเห็นด้วยกับนาง แล้วพลอยไปโกธา ใส่หลวงสติ โหราธิบดี ดำรัสรับสั่ง ให้ไล่ออกไปเสียให้พ้นจากเขตพระราชฐาน … หลวงสติ เมื่อถูกขับไล่ ก็ออกไป บรรดาเสนาที่ซื่อสัตย์ต่างก็ไม่กล้าทูลเตือนพระเจ้าจิตราช หลบหน้าหนีออกไปจากพระนครจนหมด

... พระเจ้าจิตราช ทรงลุ่มหลงในพระนางตัณหาและนางอวิชชา มากกว่าเดิม จนไม่ได้เสด็จออกตรวจตราพระนคร ทรงหมกมุ่นอยู่กับอบายมุข เช่นสุรา นารี กับเสนาที่เป็นพาล ไม่เป็นอันปฏิบัติราชกิจที่ถูกควรอันใดเลย

... เหล่า พยาธิทั้งหลายก็ได้เริ่มแทรกเข้ามาในกายนคร โดยง่ายดาย เรื่องร้าย ๆ กำลังจะเริ่มเกิดขึ้น

๖.มรณานคร

จะกล่าวถึงเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง ชื่อว่า มรณานคร กษัตริย์มัจจุราช ทรงครองนครนี้

มัจจุราชกษัตริย์ พระนามนี้ ได้ยินไปถึงไหน ก็เป็นที่ครั่นคร้ามขามขยาดไปทั่ว เพราะพระยามัจจุราชนี้ ลงโจมตีเมืองใดเข้าแล้ว เมืองนั้นต้องย่อยยับทันที พระยามัจจุราชนี้ ไม่มีรัก ไม่มีเกลียดใคร ใครจะเอาเงินทองกอบโกยมาถวายเพียงใด ท้าวเธอก็ไม่ยินดี หรือใครจะไปหลบอยู่ที่ใด อยู่ที่ไหน ๆ หากพระเจ้ามัจจุราชต้องการตัว ก็ไม่พ้นเงื้อมมือพระยามัจจุราชไปได้

ทหารเอก ของมัจจุราชกษัตริย์ มี ๒ คน คือ หลวงชรา กับหลวงพยาธิ ทั้งสองทหารเอกนี้ เป็นที่ครั่นคร้าม ไปทั่วทุกทิศ เพราะทหารเอกทั้งสองนี้ซึ่งเปรียบเสือนมือซ้าย มือขวาของพระเจ้ามัจจุราช จะโจมตีไม่เลือกหน้า

พระเจ้ามัจจุราช ทรงดำริ จะแผ่อำนาจไปตามหัวเมืองใหญ่น้อย ได้ออกบังลังก์ ปรึกษากับเหล่าเสนาอำมาตย์ ซึ่งมีหลวงชรา กับหลวงพยาธิ เป็นมนตรีที่ปรึกษา และเป็นทัพหน้าของเจ้าแห่งมรณานคร
“ตอนนี้เมืองน้อยใหญ่ต่าง ๆ ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของเราแล้ว จะเหลือเมืองใดบ้างหนอ ที่ยังไม่เป็นเมืองของเรา และได้เวลาที่เราจะไป โจมตีเอา” ทรงตั้งคำถาม ในที่ประชุม

“กายนคร พระเจ้าข้า” สุวรรณโหราธิบดี ได้กราบทูล “บัดนี้จิตราชราชา ลุ่มหลง ในอบายมุข มาก จึงเป็นโอกาสที่เราจะไปยึดครองมาพระเจ้าข้า”

เหล่ามนตรีในที่ประชุมต่างเห็นพ้องกับ สุวรรณโหราธิบดี
มัจจุราชราชา จึงได้ปรึกษา ถึงการจะไปโจมตีเมืองกายนคร ให้จัดกำลังนักรบเข้าตีป้อมกำแพงกายนครให้พินาศ แล้วจะเข้าไปจับท้าวจิตราชมัดนำออกไปไว้นอกพระนครต่อไป.........

๗.เตรียมทัพ

ในที่ประชุมมุขมนตรี ภายในมรณานคร หลวงชรา ทหารเอกอาสา เดินทางไปดูลาดเลาก่อน โดยทูลว่า “ข้าแต่องค์มัจจุราช ข้าพระองค์ขออาสา เดินทางไปก่อน โดยจะไปตีสนิทกับขุนปฐพี ผู้ตรวจตรากายนคร ชวนเล่นให้สนุกเพลิดเพลิน หามรุ่งหามค่ำ จนเขาลืมตรวจตราพระนคร จนเห็นว่า เมืองนั้นโทรมแล้ว จึงจะเข้าโจมตีหนักในภายหลังพระเจ้าข้า”
พระยามัจจุราช ทรงแย้มพระสรวน ในแผนการของหลวงชรา

หลวงพยาธิกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสายกทัพหนุน เข้าโจมตีกายนคร โดยจะขอให้ขุนระบาดไปด้วย จะได้ช่วยฝึกอาวุธ กับขอขุนโรคาคุมไพร่พลร้อยแปด ไปตั้งล้อมป้อมค่ายเป็นชั้น ๆ ไว้หลาย ๆ ชั้น เมื่อได้โอกาสแล้วก็จะโจมตีกายนครให้ย่อยยับเลยทีเดียว พระพุทะเจ้าข้า”

หลวงมรณัง อำมาตย์ผู้ใหญ่อีกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นแม่ทัพที่มีฝีมือไม่น้อยไปกว่าทหารเอกทั้งสองกราบทูลอาสาไปอีกว่า “ ขอเดชะ หากกองทัพของหลวงชรา และหลวงพยาธิ กลับสู่พระนครเราแล้วไซร้ ข้าพระพุทธเจ้า จะขออาสา ยกพลไปโจมตีล้างผลาญ กายนครให้พินาศ ไม่เลือกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ แล้วจะจับท้าวจิตราช ผู้ครองกายนคร มาถวายพระองค์ให้จงได้พระพุทธเจ้าข้า”

มัจจุราชกษัตริย์ทรงสดับ ความคิดของแม่ทัพทั้ง 3 จะอาสาไปตีกายนครดังนั้น ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก จึงดำรัสให้สองทหารเอก คือหลวงชรา และหลวงพยาธิ เร่งระดมพลไปโจมตีกายนครทันที

หลวงชรา และหลวงพยาธิ รับพระบรมราชโองการจากพระยามัจจุราชแล้ว ก็ออกมาเกณฑ์พลไกรโดยพรั่งพร้อม

ให้ ขุนเอดส์ ถือธงชัยนำหน้า ถัดมา ขุนตาลขโมยนายกองช้าง ขุนบาดทะยักนายกองม้า ขุนอหิวาตกโรคนายกองพลธนู ขุนริดสีดวงนายกองทหารราบ ตามด้วย นายรองเท้ามาร นายไส้เลื่อน นายกลาก นายเกลื่อน นายหิต นายต่อมพิษ นายงูสวัสดิ์ นายหวัดใหญ่หวัดน้อย ฯลฯ เดินตามกันเป็นแถว ปีกขวาขุนมะเร็ง ปีกซ้ายขุนวัณโรค

หลวงชรา ทัพหน้า ใส่เสื้อผ้าหนังวานร ใส่แว่นตา มือซ้ายถือสาก มือขวาถือไม้เท้า
หลวงพยาธิ ทัพหลัง ใส่เสื้อหนังวัวกระทิง มือทั้งสี่ ถือพร้า ขวาน จอบ คบเพลิง เป็นอาวุธ
นายกุฏฐัง เป็นผู้หาฤกษ์ พอได้ฤกษ์ ก็ยกกองทัพไป สู่กายนคร
๘.รุกคืบ

ครั้นกองทัพเมืองมรณานคร เข้าใกล้ จะถึงกายนคร หลวงชราก็สั่งให้หยุดกองทัพไว้ไม่ห่างจากกายนครไกลนัก แล้วตัวหลวงชรา จึงลอบเข้าไปดูลาดเลาในเมือง
ในพระนคร ท้าวจิตราช ทรงลุ่มหลงนางตัณหาและนางอวิชชามาก จนไม่เป็นอันออกว่าราชการ ไม่คิดจะป้องกันพระนครอย่างไร

หน่วยจู่โจมของหลวงชรา จึงเข้าโจมตี กำแพงด้านนอกสุดคือกำแพงตโจ (กำแพงหนัง) จนตกกระ ท้าวจิตราชก็ยังไม่รู้สึกพระองค์ ชาวเมืองกายนคร ก็เช่นกัน เพราะเห็นแต่มัวสนุกสนานเพลิดเพลิน ทะนงตนกันอยู่ หลวงชรา จึงสั่งให้ทหารเข้ารื้อกำแพง มังสา ชั้นที่สอง (กำแพงเนื้อ) ตีป้อมเกศา (ปราการผม) ซึ่งเคยดำกลับกลายเป็นขาว

ท้าวจิตราช พอรู้ข่าวว่า พระยามัจจุราช ส่งกองทัพมาโจมตี กายนคร พระองค์ทรงตกพระทัยยิ่งนัก เร่งเสด็จไปยังประตูจักษุประสาท เพื่อสังเกตเหตุการณ์

“นี่มันอะไรนี่” จิตราชราชา ทรงอุทานขึ้นเพราะเห็นแต่หมอกควันมืดมัว ที่เกิดจากการโจมตีของหลวงชรา พระองค์ทรงเสด็จ ไปดู กำแพง ป้อมปราการ ประตูต่าง ๆ ก็วิกลวิกาลไปหมด จึงตรัสเรียกขุนปฐพี ผู้ตรวจตรากายนคร มาแล้วตรัส สั่งไป “ขุนปฐพี หน้าที่ของท่านคือตรวจตราบ้านเมือง ขณะนี้ กองทัพของเมืองมรณัง เข้ามาโจมตีเมืองของเราท่านมัวแต่ทำอะไรอยู่ … เพื่อไม่ให้เป็นการประมาท ท่านจงเร่งซ่อมแซมพระนครโดยด่วน”

ขุนปฐพี เมื่อได้รับประบัญชาเช่นนั้นแล้ว จึงเร่งซ่อมแซมบ้านเมืองโดยด่วน ด้วยการไปเอาแป้งปูนขาวมาแต้มแต่งกำแพงตโจ เอาเขม่าน้ำยามาช่วยฟื้นฟูป้อมเกศา แต่กว่าที่ขุนปฐพีจะมาซ่อมแซมแก้ช้าเกินแก้ ยิ่งซ่อมก็ยิ่งชำรุด

หลวงชรา เมื่อโจมตีได้ผลมาก ก็ยิ่งได้ที “หึ หึ หึ ไม่นาน กายนคร ก็ไม่พ้นเงื้อมมือของพระราชาของเราเช่นเมืองอื่น ๆ” แล้วสั่งให้ทหาร เข้ากระหมวดรูโซ่ ที่รึงรัดตัวเมืองให้มั่นคงอยู่ได้ ทำให้เป็นปุ่มปม ตีป้อมทันตา (ปราการฟัน) จนโยกคลอน หลุดร่วงพรู แม้ขุนปฐพีจะจัดการซ่อมแซม ดัดแปลงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จึงเร่งมากราบทูลพระเจ้าจิตราช ให้ทรงทราบ “ไม่ไหว พระเจ้าข้า ขณะนี้ สุดวิสัยที่ข้าระองค์จะซ่อมแซมแล้วพระเจ้าข้า”
๙.คำแน่ะนำ
เมื่อขุนปฐพี มากราบทูลให้เจ้าจิตราช ฟังดังนั้น ความร้อนพระทัยของพระเจ้าจิตราชทรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ครั้นทรงนึกถึงคำที่หลวงสติ โหราธิบดี ได้เคยกราบทูลเตือนไว้ว่า จะมีภัยมาติดพระนครแต่นางตัณหา กับนางอวิชชาทูลทัดทานไว้ไม่ให้เชื่อ กลับให้ไล่โหราธิบดี ออกไปเสีย อีกบัดนี้ เหตุร้าย ก็เกิดขึ้นเป็นจริงดังคำที่ สติโหราธิบดีกราบทูลไว้แล้ว จึงเพิ่มความร้อนพระทัยยิ่งนัก จึงดำรัสสั่งให้เรียกหลวงสติโหราธิบดีเข้าเฝ้า

ในครั้งนี้ สติโหราธิบดี เกรงว่า จะทูลให้พระเจ้าจิตราชราชาทรงเชื่อฟังตนไม่มั่นคงจึงพา หลวงสัมปชัญญะ ผู้เป็นราชครูประจำกายนคร เข้าเฝ้าอีกพร้อมตน

เมื่อเข้าเฝ้าจิตราชราชาแล้ว พระเจ้าจิตราชทรงดีพระทัยมากเมื่อทั้ง 2 คนเข้าเฝ้าโดยพร้อมกัน จึงตรัสว่า “ดูกร ท่านโหราจารย์ทั้งสอง บัดนี้ ป้อมกำแพงเมืองทั้งภายในและภายนอก ถูกข้าศึกโจมตีจวนจะพินาศอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งสอง ช่วยป้องกันพระนครไว้ให้ดีด้วยเถิด”

หลวงสติ จึงกราบทูล ว่า “ขอเดชะ ข้าศึกที่มาโจมตี กายนครครั้งนี้ เป็นทัพของพระยามัจราช ที่ล่วงหน้ามาก่อนนี้ มี 3 ทัพ ด้วยกัน ทัพหนึ่ง เป็นทัพของ หลวงชรา จะบุกเข้าสู่กายนครก่อน จากนั้น จะเป็นทัพของหลวงพยาธิ จะโหมกำลังเข้าตีกระหน่ำ แล้วทัพของหลวงมรณัง จะเข้าทำลายเมืองจนแหลกลาญ พระองค์จะต้องถูกจับตัวไปถวายกษัตริย์มัจจุราช ขณะนี้เป็นทัพของหลวงชราเข้ามาโจมตีก่อน ทัพของหลวงพยาธิกับหลวงมรณังยังมาไม่ถึง ขอพระองค์ทรงหาวิธีป้องกันพระนครไว้เถิดพระเจ้าข้า”

ราชครูสัมปชัญญะ กราบทูลเสริมไปว่า “ขอเดชะ หากพระองค์ไม่ทรงป้องกันพระองค์ไว้ก่อน เมื่อถูกจับพระองค์ไปส่งกษัตริย์มัจจุราช พระองค์จะต้องถูกชงทัณฑ์ด้วยประการต่าง ๆ เช่น ถูกนำไปขังไว้ในคุกนรกบ้าง นำไปอยู่กับพวกสัตว์เดรัจฉานบ้าง นำไปทรมานดั่งเปรตบ้าง ขอให้พระองค์โปรดมีกระแสรับสั่ง ให้ขุนศรัทธากับขุนปัญญา ช่วยคิดแก้ไข เหตุร้ายเถิดพระเจ้าข้า”
ขณะนั้น เสนา ปัญจวีสติอนุศาสก ซึ่งหมอบเฝ้า อยู่ ณ ที่นั้น ด้วยต่างพากันกราบทูลสนับสนุน โหราธิบดีทั้งสอง ขอให้ท้าวจิตราชทรงปฏิบัติตาม

พระเจ้าจิตราช ทรงรับทำตามคำกราบทูลของโหราธิบดีทั้งสอง โดยให้ขุนศรัทธากับขุนปัญญาเตรียมกำลังพล 5 กองพล คือพลศรัทธา พลวิริยะ พลสติ พลสมาธิ พลปัญญา ไว้ต่อสู้กับกองทัพของหลวงชรา โดยมี อนุศาสกทั้ง 25 คน ขออาสารบในครั้งนี้ และมีดำรัสสั่งให้ ขุนมัจฉริยะเจ้ากรมพระคลัง เตรียมเสบียงและขนราชทรัพย์ออกจากพระคลังหลวง เพื่อใช้จ่ายในทางที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง เพื่อรับทัพจากเมืองมรณนคร

ฝ่ายขุนมัจฉริยะ เมื่อได้รับคำสั่งเช่นนี้ ก็ไปทูลพระนางตัณหา และพระนางอวิชชา เพื่อขอให้พระนางทั้งสองช่วยประวิงการเบิกจ่ายเงินจากท้องพระคลังหลวงไว้ก่อน เพราะขืนให้เบิกจ่ายมาก ๆ จะทำให้เงินในท้องพระคลังหลวงร่อยหรอ

พระนางตัณหาและพระนางอวิชชา ได้ฟังขุนมัจฉริยะมาทูลดังนั้นให้รู้สึกไม่สบายพระทัย จึงรีบพากันไปเฝ้าพระราชสวามี และกราบทูลว่า “พระทูลกระหม่อม ทำไมจึงทรงเชื่อคำของโหราธิบดี และอำมาตย์ ที่เพ็ดทูลในทางที่ไม่เป็นเรื่อง อันทรัพย์สินเงินทองที่เก็บไว้ยิ่งมากก็ยิ่งดี ถ้าทรงนำมาจับจ่ายก็จะทำให้พร่องไป หม่อมฉันทั้งสอง อุตส่าห์ ดิ้นรนหามาเก็บไว้ และคอยป้องกันมิให้เงินทองรั่วไหล ก็เพราะมีขุนมัจฉริยะเขาเป็นคนดีถี่ถ้วน ไม่ยอมนำออกไปใช้จ่ายง่าย ๆ คอยเก็บหอมรอมริบ พระองค์อย่าทรงเชื่อโหรเฒ่าเจ้าเล่ห์ คอยแต่ประจบยุ ให้ทำบุญทำทาน ถ้าถึงคราวหมดทรัพย์ พวกเหล่านี้ก็จะเอาตัวรอด หม่อมฉันทั้งสองดอก ที่จะจงรักภักดีต่อพระองค์ อยู่ตลอดกาล ขอพระองค์ทรงยับยั้งการนำเงินออกจากพระคลังไว้ก่อนเถิดเพค่ะ”
ฝ่ายเสนาเหล่าอกุศลเจตสิก ๑๔ นาย ที่เป็นพวกพ้องของพระนางทั้งสอง ต่างกราบทูลสนอง สนับสนุนถ้อยคำของนางทั้งสอง และทูลเสริมว่า “ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายจะขออาสาต่อต้านข้าศึก จะไม่ยอมให้ข้าสึกเข้าทำลายบ้านเมือง และจับพระองค์ไปได้ และขอให้ทรงพระสำราญประกอบกามสุขอย่าได้ทรงทุกข์ร้อนพระทัยไปเลยพระเจ้าข้า”

ท้าวจิตราชทรงสดับ คำของเหล่า พระนางตัณหาและพระนางอวิชชาแล้ว ก็ทรงเห็นชอบด้วย ... จึงทำให้ทรงพิโรธ พวกพระโหราธิบดี เป็นอันมาก “เฮ้ย ไอ้โหรา ปัญญาทราม” ท้าวจิตราชทรงตวาดใส่ โหรา และกุศลเสนา “มึงจะมากล่าวร้าย ให้ตัวกูแลพระนครพลอยฉิบหาย ไป ๆ พวกมึงไปให้พ้นจากพระนครเดี๋ยวนี้” แล้วทรงขับไล่ โหราธิบดีและอนุศาสกออกจากพระนคร

ท้าวจิตราช ทรงลุ่มหลงพระนางทั้งสองมากยิ่งขึ้น และตรัสขอบใจพระนางทั้งสองที่ทูลทัดทานไว้ พร้อมทั้งบำเหน็จรางวัลให้ขุนมัจฉริยะเป็นอันมาก

๑๐.ข้าศึกที่ไม่เห็นตัว
ฝ่ายทัพขุนพยาธิ ซึ่งเป็นทัพหนุน ของทัพหลวงชรา พอทราบว่า กายนครถูกทัพของหลวงชรา ซึ่งเป็นกองหน้าเข้าจู่โจมจนบอบช้ำแล้ว จึงสั่งให้เคลื่อนทัพหนุน ให้ขุนโรคาเข้าประชิดพระนคร เตรียมคบเพลิงเพื่อเผากายนคร

เมื่อมาสมทบกับทัพของหลวงชรา ขุนพยาธิ ก็ยังไม่เห็นทหารจากกายนคร ออกมาป้องกันพระนคร จึงได้แต่มองหน้า หลวงชรา ว่า ทำไมมันง่ายอย่างนี้ พร้อมทั้งเริ่มโจมตีพระนคร ระลองสองอย่างหนัก

ทันใดนั้น ทางประตูพระนคร ปรากฏ พวก กิมิชาติ พยาธิร้าย ต่างพากันเปิดประตู ฆานทวารซ้าย ขวา เพื่อต้อนรับขุนโรคา ทันที

ขุนโรคา ดีใจมากที่มีไส้ศึกออกมาต้อนรับ
อันทัพของขุนโรคานี้ มีร่างกาย โปร่งบางเบา เป็นมนุษย์ล่องหน ไปหนทางใด ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็น เว้นแต่ผู้มีตาทิพย์เท่านั้นจึงจะเห็น และทัพของขุนโรคานี้เป็นผู้ชอบทรมานผู้อื่น มากกว่า การจับเป็น หรือจับตาย ชอบเห็นผู้อื่นมีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ยิ่งเจ็บ ขุนโรคายิ่งชอบ ชอบทรมาน

ทัพของขุนโรคา เมื่อบุกเข้ากายนครได้ ก็เริ่มทรมานชาวเมืองด้วยวิธีการต่าง ๆ นา ๆ จนได้ยินเสียงร้องโอดครวญไปทั่วพระนคร

สำหรับตัวขุนโรคา ได้เข้าไปในพระราชวังของท้าวจิตราช ได้เห็นท้าวจิตราชกับพระมเหสีทั้งสองกำลังบรรทมหลับสนิทอยู่ จึงเข้าตรงจู่โจมทำร้ายท้าวจิตราชโดยทันที

“โอ้ยยยยยยยยย” ท้าวจิตราช ทรงสะดุ้งจากพระบรรทม “มันเกิดอะไรขึ้น” ทรงรู้สึกเจ็บปวดไปทั่วพระวรกาย มองเหลียวซ้าย แลขวา มองหาคนที่มาทำร้ายตนก็ไม่เห็นตัว ได้ยินเสียงหวิว ๆ ระรัวคล้ายกลอง สะเทือนสะท้านกังวาล ไปทั้งโสตะ แลร่ายกายเจ็บปวดมาก

“น้องหญิงช่วยพี่ด้วย” ท้าวจิตราชตรัสเรียกมเหสีทั้งสองให้ตื่นจากบรรทมให้มาช่วยพระองค์
“เป็นไงบ้างล่ะ” ขุนโรคา นึกอยู่ในใจ

พระนางตัณหา และพระนางอวิชชาทรงตื่นจากบรรทม เห็นพระอาการของพระสวามีแล้วทรงตกใจมาก ที่เห็นพระอาการของพระสามี สั่นสะท้านไปทั่วพระวรกาย ต่างเข้าประคองจิตราช ราชา “พระองค์เป็นอะไรเพค่ะ” พระนางอวิชชา ทรงตระหนกถามพระสวามีอย่างเสียงสั่น
“พระองค์อยากเสวยอะไรหรือเพค่ะ” พระนางตัณหา ตรัสถาม ด้วยเข้าใจว่าท้าวจิตราชทรงหิวพระกระยาหาร “อยากเสวย สุรา ยาฝิ่น กัญชา หรือหมู เห็ด เป็ด ไก่ ก็มีไว้พร้อมแล้ว อย่าได้ทรงอดเลย ถ้าทรงอดของเหล่านี้แล้ว พระองค์จะซูบผอมได้ จะทำเหมือนไม่ทรงรักพระองค์เอง หรือจะทรงประสงค์สิ่งไรอีก ก็ขอได้ทรงบอกเถิด น้องจะจัดมาถวาย ตามพระประสงค์ทุกอย่าง”

ท้าวจิตราช ทรงปฏิเสธทุกอย่าง ตรัสว่าเบื่อไปหมดไม่อยากเสวยอะไรเลย ...
“เอาเหอะ เราจะไม่ฆ่าเจ้า ในตอนนี้หรอก เราจะให้เจ้าทรมาน ทรมาน จนกว่า เจ้าจะตายเอง”ขุนโรคา รำพึงในใจตนเองอย่างกระหยิ่มยิ้มย่อง เพราะ มันได้ วางยาบั่นทอนชีวิต ไว้ในตัวของท้าวจิตราช

“วันนี้ข้าไปก่อนล่ะ ขอให้เจ้าทรมาน ไปจนวันตายเถิด ฮ่า ฮ่า ฮ่า” ขุนโรคา วางยาบั่นทอนชีวิตในร่างกายของท้าวจิตราชแล้ว ก็ได้ออกไปสมทบกับหลวงชรา เพื่อทำลาย ป้อม ประตู กำแพงทั้งหมดของกายนคร

ฝ่ายจิตราชราชา ทรงเจ็บปวดพระวรกายมากเพราะยาบั่นทอนชีวิตของขุนโรคา มเหสีทั้งสองเห็นอาการของพระสวามีให้แปลกใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นพระวรกายของของพระสามีเป็นอย่างนั้น จึงให้เรียกหมอหลวงมาพยาบาล ให้หมอผี แม่มดมาปัดรังควาน ก็ไม่หายไม่ทุเลา เพราะพิษของยาบั่นทอนชีวิต เป็นยาที่มีคนรู้จักน้อยนัก ท้าวจิตราชราชา จะทรมานไปถึงไหนกัน
๑๑.พระสุบิน

พระเจ้าจิตราชราชา ครั้นทรงบรรเทาอาการเจ็บปวดดังกล่าวไปได้พอสมควร อีกทั้งยังอ่อนเพลียด้วยพิษไข้จากยาบั่นทอนชีวิตของขุนโรคา จึงบรรทมหลับไป ได้ทรงพระสุบินว่า
มีผู้วิเศษเหาะเข้ามาทางช่องพระแกล พระหัตถ์ซ้ายถือคันชั่ง พระหัตถ์ขวาถือค้อนที่ลุกโพลงไปด้วยเพลิงอันโชติช่วง แล้วได้ถามปัญหาพระเจ้าจิตราช ๒ ข้อ “พระองค์นรราชาแห่งกายนครปัญหาสองข้อนี้มีว่า ๑.ยาวให้บั่น ๒.สั้นให้ต่อ ขอพระองค์ทรงตอบปัญหา สองข้อนี้ว่าคคืออะไร ถ้าคิดไม่ออก ในสามวันจะมีอันตราย ถ้าคิดออกจะหายจากโรคาพาธ ความเกษมสำราญสวัสดีจะมีต่อพระองค์ทุกราตรีกาล” ครั้งถามปัญหาแล้ว ผู้วิเศษ ก็หายไปในทันที
พระเจ้าจิตราช ตกพระทัย ผวาตื่น แลยังจำพระสุบินนิมิตนั้นได้เป็นอย่างดี จึงตรัสเรียกเสนาอนุศาสกทั้ง ๒๕ นาย ให้เข้าเฝ้าแล้วตรัสเล่าถึงอาการประชวรและพระสุบินนิมิต ที่มีผู้วิเศษมาถามปัญหาให้แก้ ๒ ข้อนั้นทุกประการ

อนุศาสกทั้ง ๒๕ นาย ปรึกษากันและเห็นพ้องต้องการจึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ การที่พระองค์ต้องรับบาปเคราะห์กรรมถึงกับทรงประชวรครั้งนี้ ก็เพราะเหล่าเสนาพาล ๑๔ นาย ยุยงให้พระองค์เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด การที่พระองค์ประชวรเพราะต้องยาบั่นทอนชีวิตของขุนโรคา เสนาของมรณานคร ที่ข้าศึกภายนอกเข้ามาโจมตีถึงภายในเช่นนี้ ก็เพราะภายในมีเสี้ยนหนามศัตรูอยู่ เปิดโอกาส ให้ข้าศึกภายนอกเข้ามาได้โดยง่าย

อนึ่ง สุบินนิมิต ของพระองค์ที่ ปรากฏขึ้นนั้น เป็นมงคลนิมิต และผู้ที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ก็เห็นอยู่แต่ สมเด็จพระสังฆราช คือ พระธรรมมุนี ขอพระองค์ได้อาราธนาท่านมาวิสัชนาให้ฟังเถิด พระเจ้าข้า”

ท้าวจิตรา ทรงยินดียิ่งนัก จึงตรัสให้ขุนศรัทธา ไปนิมนต์ สมเด็จพระสังฆราชมาในวัง
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชมาถึง จิตราชราชา จึงถวายนมัสการ แล้วเล่าเหตุการณ์ที่ปรากฏแก่พระองค์ให้สมเด็จพระสังฆราชาฟังทุกประการ
 ๑๒.แก้พระสุบิน


สมเด็จพระสังฆราขา ได้ฟังพระดำรัสตรัสเล่า ดังนั้น ก็ทราบความทุกประการ จึงถวายพระพรว่า “ขอมหาบพิตร อย่าได้ทรงพระวิตก ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างใดเลย อันสุบินนิมิตที่ปรากฏนั้น เป็นนิมิตดี เกิดขึ้นด้วยอำนาจกุศลแสดงว่าพระองค์จะทรงสำราญอยู่ต่อไป แต่ในชั้นต้นนี้ ขอพระองค์จงสมาทานศีล ๕ ประการเป็นหลักเสียก่อน คือ ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้มีเมตตาจิตต่อสรรพสัตว์ถ้วนหน้า ไม่ฉกชิงลักทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ผิดลูกเมียของใครเขา ไม่พูดปดมดเท็จให้เขาเข้าใจผิด ไม่ดื่มเครื่องดองของเมาอันเป็นเหตุให้เสียสติ ศีล ๕ นี้เป็นเสมือนเกราะแก้วเป็นมงคลต่อผู้สวม สามารถประจันกับข้าศึกฝ่ายไม่ดีให้พ่ายแพ้ไป

สำหรับ พระสุบินนิมิต ที่กล่าวมาผู้วิเศษ ถือคันชั่งมา ก็ขอให้พระองค์ทรงเที่ยงตรงดั่งคันชั่งนั้น แลปริศนาธรรม ๒ ข้อคือ ยาวให้บั่น กับสั้นให้ต่อ รูป จะขอแก้วิสัชนาเป็นข้อ ๆ ดังนี้

ทีว่า ยาวให้บั่น คือ คนเรามีทุกข์ ซึ่งมีมาจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศก เสียใจ แค้นใจ คับใจ พลัดพรากจากของรัก ปรารถนาสิ่งใดไม่สมหวัง ความทุกข์เหล่านี้ เกิดจากตัณหา 3 ประการ คือ กามตัณหา ความอยากในกาม ภวตัณหา ความอยากเป็นโน่น เป็นนี่ วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็นอะไรสักอย่าง และ อวิชชานี้ ทำให้เกิดทุกข์ไม่สิ้นสุด จึงควรบั้นทอนให้หมดไป ถ้าไม่บั่น ก็จะทำให้เกิดทุกข์ไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงว่า - - - ยาวให้บั่น

ที่ว่า สั้นให้ต่อ คือ คนเราเกิดมามีอายุน้อยนัก หากจะก่อกรรมทำอกุศล ก็จะหมดดีไม่มีชื่อเสียง เพราะสูญเสียความดี ที่ควรทำไปพร้อมกับชีวิตอันสั้น ฉะนั้นจึงควรประกอบกรรมดี เพื่อให้ความดีดำรงยั่งยืน โดยละ อกุศลกรรมเหล่านี้ คือ

ละโมหะ ความหลง
โทสะ ความโกรธ
มัจฉะริยะ ความตระหนี่
ถีนมิทถะ ความง่วงเหงาซึมเซา
อหิริกะ ความหมดอาย
อโนตะตัปปะ ความไม่กลัวบาป
อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญ
อิสสา ความริษยา
โลภะ ความละโมบอยากได้ไม่สิ้นสุด
ทิฐิ ความเห็นนอกลู่นอกทาง
มานะ ความถือตัว
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

เมื่อละอกุศลเหล่านี้ได้ ก็ขอพระองค์ ประกอบกุศล มีการให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น
เมื่อทำเช่นนี้ได้ ก็จะทำให้อายุอันสั้นนี้ ได้ดำรงคุณงามความดี อยู่ได้ตลอดไป ดังปริศนาว่า สั้นให้ต่อ”

จิตราชราชา ทรงเลื่อมใสในวิสัชนา ของสมเด็จพระสังฆราชยิ่งนัก มีพระทัยผ่องใส การที่พระเจ้าจิตราช ทรงมีพระทัยผ่องใสทำให้ขับพิษของยาบั่นทอนชีวิตของขุนโรคา สลายไปในที่สุด
๑๓.เปิดพระคลัง

ท้าวจิตราชทรงมีพระทัยผ่องแผ้วสดใส เพราะฟังคำแก้ปริศนา ของพระครูธรรมมุนี จึงรับกับพระสังฆราชาว่า “ข้าพระองค์จะทำตามทุกอย่างตามที่ท่านถวายวิสัชนามา จะเริ่มบำเพ็ญ ศีล ทาน ภาวนา จะหลีกให้ห่างจากพวกอกุศล จะระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และตั้งจิตลงสู่ไตรลักษณ์ จะกำจัดอวิชชา ตัณหาให้พ้น” จากนั้นจึงรับสั่งให้เสนาอนุศาสก ให้คอยระแวดระวังอย่าให้นางตัณหา นางอวิชชา เข้ามาถึงหน้าฉานได้ ถ้ามาก็ให้ไล่ไปให้พ้น อีกทั้งพวกกาลี ๑๔ คน ก็อย่าให้เข้ามา

พระเจ้าจิตราช ทรงมีพระพักต์ผ่องใส พระทัยผ่องแผ้ว เริ่มดำริที่จะบริจาคทาน จึงมอบอาญาสิทธิ์ให้ขุนจาคะเจ้ากระทรวงว่า “จาคะ ขอให้ท่าน ไปขับไล่ขุนมัจฉริยะ เจ้ากรมบัญชีพระคลังหลวงออกไปเสีย แล้วขนเงินทอง ข้าวของมีค่า ออกทำการสงเคราะห์ ประชาชนผู้ยากจนให้ได้รับโดยทั่วหน้ากันเถิด”

ขุนจาคะ รับพระราชโองการแล้ว จึงเร่งตรงไปหา ขุนมัจฉริยะ แล้วออกคำสั่งให้ขับขุนมัจฉริยะพ้นหน้าที่เจ้ากรมบัญชีหลวงทันที

ขุนมัจฉริยะ โกรธมาก ที่ถูกขับไล่ให้ออกจากตำแหน่งพระคลังหลวง จึงขัดขืน ดื้อดึง อ้างว่า “ตัวข้า เป็นคนโปรดปรานของพระมเหสีทั้งสอง ทั้งได้รับการไว้วางพระทัยเป็นอย่างมาก ทั้งตนเองก็ได้เก็บหอมรอมทรัพย์ ไว้จนเต็มท้องพระคลัง มิได้นำไปใช้จ่ายให้สิ้นเปลืองพระราชทรัพย์แต่ประการใด” แล้วโต้ขุนจาคะต่อไปว่า “เรามีความผิดอย่างไรหรือจึงมาขับไล่เรา”
ขุนจาคะ จึงตอบโต้บ้าง “ท่านดีแต่อ้างเอานางตัณหามเหสีมาขู่ขวัญ เราจะบอกให้ว่า ที่เราออกคำสั่งขับไล่ท่านครั้งนี้ เพราะได้มีพระราชโองการจากพระเจ้าจิตราช ให้เรามาขับไล่ท่าน หากท่านยังขืนขัดคำสั่ง จะถูกพระราชอาญา” ขุนจาคะมิฟังเสียงคัดค้าน จากขุนมัจฉริยะอีกต่อไป ตรงเข้าไขกุญแจเปิดห้องพระคลัง ขนแก้ว แหวน เงิน ทอง ออกมากองไว้ภายนอกพระคลังจนหมดสิ้น

ขุนมัจฉริยะ โกรธแสนโกรธ ครั้นจะดื้อดึงแข็งขืน ก็เกรงว่าจะมีภัย มองดูทรัพย์สินเงินทอง ที่นำออกมากองไว้ รู้สึกเศร้าใจเพราะเสียดาย ที่อุตส่าห์เก็บไว้ตั้งแต่ปู่ย่า ตายาย จะต้องมาหมดสิ้นไปในครั้งนี้ จึงหันไปปรึกษา ขุนโลภะ รองเจ้ากรมว่าจะทำกระไรดี ขุนโลภะ จึงหันเข้าต่อว่า ขุนจาคะว่า “อวดดีอย่างไร จึงทำเช่นนี้ ของเหล่านี้เราเป็นฝ่ายหา ขุนมัจฉริยะเป็นฝ่ายเก็บ กลับจะนำออกไปใช้จ่ายหมดไปเช่นนี้ เราไม่ยอมเด็ดขาด”

ขุนจาคะ เห็นท่าจะพูดดี ๆ กันไม่ได้ จึงตวาดใส่ ขุนมัจฉริยะและขุนโลภะ แล้วอ้างพระราชดำรัสให้มาจัดการครั้งนี้ จากนั้นจึงตรงเข้าจับคอขุนมัจฉริยะ และขุนโลภะ ไสตัวออกไป
ขุนมัจฉริยะ ขุนโลภะ เมื่อถูกคุกคามและขับไล่เช่นนั้น จึงพากับไปทูลพระมเหสีอวิชชา และพระมเหสีตัณหา ว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าทั้งสองถูกขุนจาคะ ขับไล่ไสส่ง ถอดจากตำแหน่ง และกล่าววาจาดูถูกพระแม่เจ้าทั้งสองด้วย มิหนำซ้ำ ยังขนทรัพย์สินเงินทอง ออกจากท้องพระคลังจนหมดสิ้น”

มเหสีทั้งสอง ได้ฟังเจ้ากรมและรองเจ้ากรมพระคลัง มาทูลความ พลันรู้สึกโกรธจนตัวสั่น ถลันลุกรีบไปเข้าเฝ้าพระสวามีทันที เห็นเหล่าอำมาตย์อนุศาสก แวดล้อมเจ้าจิตราชอยู่ จึงบริภาษอย่างหยาบช้าสามานย์ แล้วหันไปกราบทูลพระสามี ให้ขับไล่เหล่าอนุศาสก ออกไปให้พ้น แล้วขอให้ขนทรัพย์สมบัติเข้าไว้ในท้องพระคลังอย่างเดิม

พระเจ้าจิตราช มิได้ตรัสตอบประการใด เพียงแต่รับสั่งให้ปิดประตูลงกลอนเสีย มิได้ทรงหวั่นไหวไปตามคำทูลขอ

พวกอำมาตย์อนุศาสก ต่างขับไล่มเหสีทั้งสอง ให้ออกไปให้พ้นพระราชฐาน ไม่ยอมให้เซ้าซี้ ก่อความวุ่นวายพระทัยพระเจ้าจิตราช

ขุนจาคะเจ้ากระทรวง เมื่อได้โอกาสจึงรวบรวมทรัพย์สินเงินทอง ที่กองไว้นั้น มาถวายพระเจ้าจิตราช เพื่อให้พระองค์นำไปบริจาค

พระเจ้าจิตราช ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ทรงโสมนัสยิ่ง ในการที่จะได้บริจาคเป็นครั้งใหญ่ จึงรับสั่งประกาศแก่ชาวพระนครให้มารับของแจก และจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์เป็นประจำ พระราชทานรางวัลแก่ข้าราชบริพาร ที่ซื่อสัตย์สุจริต ส่วนผู้ที่ประพฤติทำนองคลองธรรมทรงกำจัดออกจนหมดสิ้น

สำหรับสงครามภายนอกทรงแต่งตั้งให้หลวงชีวิตินทรีย์ คอยรักษา ป้องกัน พระนคร ร่วมกับ ขุนปฐพี ขุนอาโป ขุนเตโช และขุนวาโย หากมีส่วนใดของพระนคร ชำรุด หลวงเภสัช จะเป็นผู้วินิจฉัยและซ่อมแซม พร้อม ขุนปฐพี ขุนอาโป ขุนเตโช และขุนวาโย เป็นส่วน ๆ ไป
ส่วนข้าศึกภายในมอบหมายให้ขุนปัญญา สอดส่องกำจัดเสีย

๑๔.เตรียมต่อนาวา

ทางด้านหลวงสติกับหลวงสัมปชัญญะ พระโหราธิบดีทั้งสอง ซึ่งถูกขับไล่ไป ครั้นทราบว่าพระเจ้าจิตราช ทรงกลับพระทัยขับไล่พวกทุจริต เลี้ยงดูผู้ทุจริต จึงกลับเข้าเฝ้า

จิตราชราชา ทอดพระเนตรเห็นโหราธิบดีทั้งสองกลับมาเฝ้า ก็ทรงชื่นชมโสมนัส ทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นอย่างดี ทั้งพระราชทานรางวัลให้จนเป็นที่พอใจ ทั้งยังรับสั่งให้พระโหราธิบดีทั้งสอง หมั่นเข้าเฝ้าทั้งเช้า เย็น เพื่อทูลพระราชกรณีที่ถูกที่ควร

วันหนึ่งท้าวเธอ ได้เสด็จไปนมัสการสมเด็จพระสังฆราชา ระหว่างปฏิสันถารกัน สมเด็จพระสังฆราชจึงหันมาปรึกษากับพระฐานาชั้นพระครู ๔ องค์ คือ พระครูสมถะ พระครูวิปัสสนา พระครูขันติ พระครูตปะ ว่าสมควรจะต่อเรือพาพระเจ้าจิตราช ข้ามแม่น้ำใหญ่เพื่อหนีกองทัพพระยามัจจุราช เจ้าเมืองมรณานคร

พระเจ้าจิตราช ทรงสดับวาจาของสมเด็จพระสังฆราชาที่ปรึกษาพระครูทั้ง ๔ นั้น ก็ทรงโสมนัสเป็นล้นพ้น จึงนมัสการพระครูทั้ง ๔ ขอให้เร่งตกแต่งนาวา พาข้ามแม่น้ำตามที่พระสังฆราชาว่ามา

พระครูวิปัสสนาจึงถวายเทศนาว่า “นาวาที่จะข้ามให้ถึงฝั่งนั้น ได้แก่ ทศบารมี คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา สำหรับทศบารมีนาวานี้ มีวิริยะเป็นกองพลแวดล้อมไป เอาศีลและทานเป็นกองเสบียง สติเป็นต้นหน เมตตาเป็นหางเสือ กรุณาเป็นสายสมอ มุทิตาอุเบกขาเป็นกว้านชักใบ พระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเสากระโดง ปัญญาเป็นกล้องส่องทาง กายคตาสติเป็นสายระโยง สมาธิเป็นที่ปรึกษา อนุศาสก ๒๕ นายเป็นทหารรักษาพระองค์ สัมมาสังกัปปะเป็นผู้บังคับกองพล บรรดาเหล่าอกุศลห้ามไปในเรือ เครื่องแต่งพระองค์ เอากุศลกรรมบทเป็นภูษา เอาเวสารัชชกรณธรรม ๕ คือศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ ปัญญาเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ปัญญาวุธเป็นพระศาสตรา คอยทำลายอวิชชา ตัณหา พร้อมด้วยวงศาคณาญาติ มี

อภิฌาวิสะมะโลภะ – ความโลภอยากได้
โกธะ – ความโกรธ
โทสะ – การคิดประทุษร้าย
อุปนาหะ – ผูกโกรธไว้
มายา – เจ้าเล่ห์
สาไถยยะ – โอ้อวด
สารัมภะ – แข่งดี
อิสสา – ริษยา
ปะลาสะ – การตีเสมอผู้อื่น
มักขะ – ลบหลู่ผู้อื่น
มานะ – การถือตัว
มัจฉริยะ – ความตระหนี่
อติมานะ – ดูหมิ่นท่าน
ถัมภะ – หัวดื้อ
ปมาทะ – ความประมาท
มะทะ – มัวเมา

ถ้าพวกเหล่านี้ เข้ามาใกล้ก็ขอพระองค์จงทำลายให้สิ้นไป หากไม่ปราบพวกเหล่านี้ให้หมดไป ก็จะเป็นอุปสรรค ในการข้ามให้ถึงฝั่ง”

กษัตริย์จิตราช พอพระทัยเป็นอันมาก จึงขอร้องให้พระครูทั้ง ๔ รีบแต่งนาวา และนิมนต์พระครูทั้ง ๔ ร่วมไปในเรือนั้นด้วย

ทรงรับสั่งให้ขุนจาคะ ทำงบประมาณค่าใช้จ่ายในการต่อนาวา
๑๕.ขัดขวาง
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย พระเจ้าจิตราช ทรงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เสด็จประทับนาวา มีสมเด็จพระสังฆราชาและพระครูทั้ง ๔ ร่วมด้วย กุศลเสนาทั้งหลาย เสด็จเดินทาง พอได้เวลานาวาธรรมก็แล่นออกจากท่ามุ่งตรงไปสู่ อมตมหานคร

ฝ่ายนางอวิชชา นางตัณหา มเหสีทั้งสอง เมื่อทราบว่า พระเจ้าจิตราชพระสวามี เสด็จไปสู่ อมตมหานคร นางโศกเศร้าเสียใจอย่างสุดแสน ประหนึ่งว่าถูกศรมาเสียบอก จึงเรียกพวกสาวสวรรค์กำนัลใน พร้อมด้วยเหล่าเสนามาตย์ราชบริพารฝ่ายอกุศลจิต ให้รีบตามพระสวามี
ครั้นมาถึงท่าน้ำ ก็เห็นพระสามี นั่งอยู่บนเรืออันงามสง่า พร้อมด้วยพระสังฆราชาธรรมมุนี พระสงฆ์ฐานา ๔ รูปและเสนาฝ่ายกุศล

นางอวิชชา นางตัณหา จึงกู่ก้องร้องไห้คร่ำครวญ ร้องเรียกพระสามีให้เสด็จกลับ “หม่อมพี่เพค่ะ กลับมาหาน้องทั้งสองเถิด อย่าได้เสด็จห่างน้องเลย น้องทำอะไรผิดจะกลับตัวเสียใหม่ เพื่อให้พอพระทัย อีกทั้งหม่อมฉันทั้งสองหมั่นปรนนิบัติ หม่อมแก้วมาแต่ช้านาน จำไม่ไม่ได้หรือเพค่ะ เสด็จกลับมาหาน้องทั้งสองเถิดเพค่ะเสด็จพี่”

พระเจ้าจิตราชราชา ได้สดับเสียงนางทั้งสองร้องเรียก ทรงรู้สึกขยะแขยง ในเสียงของนางเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสตอบไปด้วยพระสุระเสียง อันเยาะเย้ยว่า “นี่แนะ แม่นางทั้งสอง เจ้าอย่ามาหน่วงเหนี่ยวเราให้เสียเวลาเลย เราไม่กลับไปลุ่มหลงในความยั่วยวนของเจ้าอีกแล้ว เจ้าทำให้เราวนเวียนอยู่ในความทุกข์ทรมานตลอดมา เราไม่ไปหาเจ้าอีกแล้ว เจ้าทั้งสองยังสาวยังสวยอยู่พอที่จะหาคู่ครองใหม่ได้ ขอให้เจ้าทั้งสองจงไปหาคู่ใหม่ได้ครองตามชอบใจเถิด”

นางอวิชชา นางตัณหา ครั้นได้ยินคำเหน็บแนม เย้ยหยันจากพระสามีก็เศร้าโศรกเสียใจ ร้องไห้เป็นวักเป็นเวร คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะพระสังฆราชายุแหย่ชักชวนพระสามีให้หลีกลี้หนีไปจากนาง จึงตัดพ้อต่อว่า พระสังฆราชาว่า “ท่านเป็นชีบานาสงฆ์ ไม่ควรจะมาก่อกรรมทำเข็ญให้ชาวบ้านเดือดร้อน ทำให้ผัวเมียเขาพลัดพรากจากกัน ชาติหน้าขออย่าให้ท่านอย่าได้พบผู้หญิงเลย ขอให้ท่านส่งพระสามีของเรากลับมาเสียโดยดีเถิด มิฉะนั้นเราจักประจานท่านอยู่ตลอดไป”

พระสังฆราชาจึงตอบไปว่า “โธ่เอ้ย แม่สีกาตัณหามาก กับมาตุคามอวิชชาหน้าโง่ ดูเจ้าช่างไม่มียางอายเสียเลย ในเมื่อสามีเจ้าหมดอาลัยเสียแล้ว ยังมาขืนมาทำเป็นสำออยหวังจะให้กลับไปเชยชิด นางทั้งสองจงกลับไปเสียเถิด อย่ามาเซ้าซี้ให้เสียเวลาเลย ไม่มีหวังที่จะให้พระสามีของนางกลับไปได้แล้ว ที่ท่านสาปแช่งเรา ขออย่าให้พบผู้หญิงนั้น อันที่จริงถูกใจเรายิ่งนัก เราเห็นเป็นพรอันประเสริฐที่ท่านให้แก่เรามากกว่าจะเป็นคำสาปแช่ง เพราะที่เราบวชอยู่ได้จนบัดนี้ ก็เพราะเราไม่ปรารถนาผู้หญิงที่จะมาเป็นคู่ครอง แล้วเราก็พยายามจะอยู่ให้ห่างไกลจากผู้หญิง ไปให้ไกลแสนไกล ถึงหากจะบังเอิญพบ เราก็ไม่ยินดีด้วยอำนาจราคะตัณหาเป็นอันขาด สีกาทั้งสองอย่ามาพูดจาข่มขู่เราเลย บาปกรรมจะกลับไปถึงตัว ตัดใจเสียเถิด”
สองมเหสี ได้ฟังคำปรามาส ของพระสังฆราชายิ่งเดือดดาลเป็นที่สุด ตะโกนแหว สั่งให้เหล่าเสนาอกุศล โจมตีทันที

หลวงโลโภ หลวงโทโส หลวงโมโห ได้ฟังคำสั่งสองนาง ต่างก็ระดมยิงด้วยเกาทัณฑ์ บ้างก็พุ่งหอก หมายจะสังหารพระสังฆราชาและท้าวจิตราช พร้อมด้วยเสนาเหล่ากุศลให้พินาศไป ทั้งตั้งใจจะทำลายนาวาให้ล่มจมลงไปกลางวารี

แต่เดชะปาฏิหาริย์ ลูกเกาทัณฑ์ หอก ที่พุ่งไปนั้น กลับย้อนมายังนางทั้งสองและบริวาร ทำให้เหล่าเสนาอกุศลต้องเสียชีวิตทันที เหลือเพียงนางอวิชชา และนางตัณหามเหสี ยังมิเป็นไร
ท้าวจิตราช เห็นมเหสียังคงดิ้นรนร้องเรียกอยู่ริมฝั่ง จึงคิดกำจัดเสีย เพราะขืนพูดดีอยู่ไม่ได้ อนุสัยเก่า จะกำเริบ จึงจับพระขรรค์ปัญญาวุธกวาดแกว่ง รวบรวมกำลังใจในจิตให้เต็มที่ นัยน์ตา จ้องมองนางทั้งสองอย่างเวทนา ข่มพระหทัย หลับพระเนตร ขว้างพระขรรค์ปัญญาวุธ ไปถูกอกนางทั้งสอง อวิชชามเหสี และตัณหาชายา ต่างดิ้นด้วยความเจ็บปวด แล้วก็พลัดตกลงไปในแม่น้ำตายไปด้วยกันทั้งคู่ เมื่อปราบเหล่าอกุศล ราบคาบแล้ว ท้าวจิตราชก็ทรงแล่นเรือต่อไปสู่อมตะมหานคร
๑๖.สู่อมตมหานคร

จะกล่าวถึงหลวงพยาธิและขุนโรคา ครั้นเห็นท้าวจิตราช ล่องนาวาธรรม ทิ้งพระนคร มิมีท่าทีต่อกร จึงชวนหลวงชรา ไปเข้าเฝ้าพระยามัจจุราชราชา กราบทูลความ “ขอเดชะ เหล่าข้าพระพุทธเจ้า ได้ช่วยกันโจมตีกายนครได้แล้ว จิตราชราชา เสด็จล่องนาวาธรรมหลีกลี้หนีพระองค์ไปสู่ อมตมหานคร พระองค์รีบเสด็จตามไปเถิดพระเจ้าข้า”

พระยามัจจุราชกษัตริย์ ได้สดับ คำกราบทูลของเหล่าทแกล้วมรณานครดังนั้น จึงระสั่งระดมพลครั้งสุดท้าย ยกออกติดตามท้าวจิตราชทันที ครั้งถึงฝั่งมหานที ทัพของมัจจุราชบรมกษัตริย์ ก็มิอาจยกไปให้ทันได้เสียแล้ว พระยามัจจุราช แค้นพระทัยมาก จึงรับสั่งให้หลวงมรณังทหารเอกตามไปสังหารให้จงได้

หลวงมรณังทหารเอกเมื่อได้รับพระบัญชาดังนั้น จึงรีบเหิร เวหา นภาอากาศ ติดตามจิตตราชราชา กับ เหล่ายมบาลทหารกล้าของหลวงมรณัง

ครั้นทัพของหลวงมรณัง ถึงนาวาธรรมของพระยาจิตราช ก็ต่างเร่งโจมตีหวังจะจู่โจมล่มเรือของท้าวจิตราชให้ได้ แต่ก็มิสามารถ แม้แต่จะเอื้อมไปจับเสากระโดงเรือได้ จะทำอย่างไร ๆ ก็ไม่อาจล่มเรือได้ บรรดาเหล่ากุศลเสนาของจิตราชราชา ที่อยู่ในเรือ ต่างก็หัวเราะอยู่อึงมี่ ที่กองทัพของพระยามัจจุราชมิอาจ สามารถทำอะไรได้

ท้าวจิตราช ทรงมีพระทัยผ่องแผ้ว ทรงสำรวลร่าเริง ที่ทัพของพระยามัจจุราชไม่สามารถทำอะไรได้ จึงมีพระวาจา กู่ก้องนภากาศ กังวาลไปกระทบโสตของพระยามัจจุราช ทีฝั่งมหานที ว่า “ดูกร ท้าวมัจจุราช ท่านอย่ามาราวีเสียให้ยากเลย พระองค์ท่านแลบริวาร ทำอะไรเราไม่ได้ดอก เรายกเมืองให้ท่านแล้ว เชิญเอาไปตามสบายเถิด ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ในนั้น เรายกให้ เชิญกลับไปเถิดเราจะไม่เจอะเจอกับท่านอีกต่อไปแล้ว เชิญกลับไปเถิด”

พระยามัจจุราช เห็นว่าสุดกำลังที่จะติดตามไปได้แล้ว จึงรับสั่งเรียกหลวงมรณังพร้อมกองทัพยมบาล แลกำลังพลทั้งหลายกลับตีเมืองอื่นต่อไป

ท้าวจิตราช เมื่อเห็นข้าศึกกลับไปหมดแล้ว ก็แล่นนาวาต่อไป ท้องนทีธาร เรียบเงียบสงัด ไม่มีคลื่น ไม่มีลม นภากาศ แม้ค่ำมืดแต่ยังสว่างไปด้วยแสงธรรม ในไม่ช้านาวาธรรม ก็ถึง อมตมหานคร

อมตมหานคร นี้ มีศีลเป็นกำแพงเมือง มีปัญญาเป็นหอรบ อินทรีย์สังวรเป็นทวารบาล อัษฎางคิกมรรคเป็นวิถีทางในนคร โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นพระคลังหลวง ภาวนาเป็นยอดปราสาท พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ เป็นพระราชอาสน์ พระไตรลักษณ์เป็นห้องบรรทม พระวิมุตติญาณทัศนะเป็นดวงประทีป เมตตาเป็นสระโบกขรณี กรุณาเป็นสายธารา มุทิตาเป็นต้นกัลปพฤกษ์ อุเบกขาเป็นเนินทราย เมืองนี้เป็นเมืองที่อยู่ของพระอริยะ เป็นเมืองบรมสุข ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย คติธรรมประจำเมือง คือ

นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ – พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
นตฺถิ สนฺติ ปรมํ สุขํ – สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ฯ
ท้ายสุด พระเจ้าจิตราชราชาบรมกษัตริย์ แห่งมหาอมตมหานคร ทรงมีพระราชสาร มายังทุกท่านว่า“ณ ที่นี้ เราคอยต้องรับพวกท่านอยู่ เพียงแต่ท่านพร้อมหรือยังที่จะมาสู่ อมตมหานคร”

............ อวสาน กายนครา นิฏฐิตา ...............

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น